ประวัติความเป็นมา(เช่นความเป็นมา,สถานที่ค้นพบ,ตำนานที่ค้นพบ) กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ในขณะนั้น) มีภาระในการให้ความรู้แก่ประชาชนทุกๆ วัย ด้วยวิธีการหลายรูปแบบ จึงนำความกราบบังคงทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”๓๗ แห่ง ในอำเภอต่างๆ ที่ยังไม่มีห้องสมุดประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๓๖ พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔
พระองค์ได้ทรงพระเมตตา พระราชทานพระราชานุญาต ทั้งยังได้พระราชทานนามห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”ซึ่งจะจัดสร้างขึ้น จำนวน ๓๗ แห่ง ใน ๓๗ อำเภอ
ต่อมาคณะกรรมการโครงการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”ของกระทรวงศึกษาธิการ
ได้สำรวจพื้นที่การก่อสร้าง ทุกจังหวัด เพื่อให้สามารถสร้างได้ ๓๗ แห่ง ในปี ๒๕๓๔ โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างแห่งละ ๑.๒๕๐,๐๐๐ บาท ผลการคัดเลือกจุดสร้างมีได้ถึง
๕๑ แห่ง
จังหวัดนครนายก มี ๔ อำเภอ มีห้องสมุดประชาชนแล้ว ๓ อำเภอ ยังขาดอยู่แต่ อำเภอองครักษ์ ซึ่งในขณะนั้น เป็นชุมชนเล็กๆ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แม้จะมีทีดินมาก แต่เงินที่จะนำมาสมทบในการจัดสร้างเกือบ ๒ ล้านบาท เป็นเรื่องยาก อำเภอองครักษ์ จึงไม่มีโอกาสได้ร่วมจัดสร้างพร้อมกับอำเภออื่นทั้ง
๕๑ แห่ง ในปีเริ่มแรกของโครงการ
คณะกรรมการโครงการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”มีแนวคิดที่จะสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”ต่อเนื่องไปจนครบทุกอำเภอทั่วประเทศภายใน ๑๐ ปี ถึงปี ๒๕๔๓ อันเป็นช่วงทศวรรษแห่งการส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือขององค์การสหประชาชาติ
นางจรูญศรี ธนสารสมบูรณ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านองครักษ์ ได้ร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของโรงเรียน เนื้อที่ ๓ ไร่ เพื่อดำเนินการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”ตั้งแต่แรก ต่อมา นายก่อ สวัสดิพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ได้พิจารณาการขอเข้าร่วมโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”เพิ่มเติม จำนวน ๕ แห่ง เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ คือ ๑. อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ๒. อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
๓. อำเภอเมือง และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ๔.อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้พิจารณาถึงสถานที่ ทำเล ขนาดพื้นที่ และความพร้อมของจังหวัด และอนุมัติให้จังหวัดที่ขอมาทั้งหมดเข้าร่วมโครงการได้ โดยจังหวัดจะต้องจัดหาทุนดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด ประมาณ ๓.๕ ล้านบาท
ในชั้นต้น ผู้มีจิตศรัทธาหลายภาคส่วน ประชาชน ได้บริจาคเงินและวัสดุ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้าง แต่ยังขาดงบประมาณกว่า ๒ ล้านบาท เพื่อให้การก่อสร้างเกิดขึ้นให้ได้ จังหวัดจึงจำเป็นต้องขอพึ่งพระบารมี
ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยขอพระราชทานราชานุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล
พระสมเด็จนางพญา เนื้อผงโดยเชิญอักษรพระนามาภิไธยย่อ “สธ”ประดิษฐานด้านหลังพระ นอกจากทรงมีพระราชานุญาตแล้ว ยังทรงพระราชทานนามพระสมเด็จนางพญา ว่า “เทพประทานพร”
ปลายเดือนมีนาคม ปี ๒๕๓๕ นายสนั่น อินทนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครนายก ได้ขอความอนุเคราะห์ จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนทั่วประเทศนำมวลสารและผงพุทธคุณ
นำมาร่วมพิธีพุทธาภิเษก เพื่อจัดสร้าง พระสมเด็จนางพญา “เทพประทานพร”เมื่อรวบรวมเงินบริจาคและการเช่าบูชาพระสมเด็จนางพญา ว่า “เทพประทานพร”ได้ล้านเศษ จังหวัดนครนายก จึงได้ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๗ และการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗ ล้วนเกิดจากการรวมน้ำจิตน้ำใจ ความจงรักภักดีของชาวนครนายก และชาวไทยทีมีต่อองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพียงประการเดียวเท่านั้น
ปัจจุบัน ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ใน ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โทร ๐๓๗ ๓๒๒๑๖๙
ความสำคัญ
ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บเอกสารต่างๆ ที่ได้บันทึกเรื่องราว เป็นหนังสือ อันเป็นแหล่งความรู้ ถือได้ว่าเป็น “ครู”เป็นผู้ชี้ให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้อันชอบด้วยเหตุผล ทำให้บุคคลในสมัยเดียวกันหรืออนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาทราบถึงเรื่องนั้นๆ และได้ให้ความรู้เก่าๆ เป็นพื้นฐานที่จะหาประสบการณ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นความก้าวหน้า เป็นความเจริญ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน ทุกวัย ได้ศึกษาค้นคว้า หาความรู้ที่จำเป็นแก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยตนเอง โดยการขยายแหล่งความรู้ในท้องถิ่นให้มายิ่งขึ้น
ลักษณะการก่อสร้าง...........อาคารห้องสมุด ๒ ชั้น บนเนื้อที่ ๓ ไร่ ชั้นบน เป็นห้องนิทรรศการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ห้องทรงพระอักษร ห้องนิทรรศการวิถีไทย ความเป็นมาของจังหวัดนครนายก ชั้นล่าง เป็นห้องแต่ละล๊อคสำหรับวางชั้นหนังสือ แต่ละประเภท มุมให้บริการอินเตอร์เน็ต
หน่วยงานที่ผู้ดูแล.........สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก