น้ำตาลแว่นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบางปู ในการเคี่ยวน้ำตาลสดจนเป็นน้ำผึ้ง นำมาหยอดในใบตาลที่ขดเป็นวงกลม จะได้น้ำตาลที่มีสีน้ำตาลเข้ม แห้ง และแข็งตัว ผู้ประกอบอาชีพการประกอบอาหารจากตาลโตนด ได้กล่าวถึงกระบวนการผลิตน้ำตาลแว่นไว้สอดคล้องกันสรุปได้ดังนี้
วัสดุ / อุปกรณ์น้ำตาลสด เตาไฟ กระทะใบบัว ฟืน กระบวยไม้ไผ่ พิมพ์ขนาดเล็กเป็นวงกลมทำจากใบตาล
กระจาด ไม้พายขนาดเล็ก
ขั้นการผลิต
๑. เทน้ำตาลสดทั้งหมดลงในกระทะใบบัว โดยผ่านกระชอนที่มีผ้าขาวบางซ้อนอยู่สำหรับกรองเอาฟองน้ำตาลและเศษไม้เคี่ยมออก
๒. ก่อไฟในเตาที่ทำด้วยดินพอกก่อสูง
๓. เมื่อเทน้ำตาลใส่กระทะและติดไฟในเตาเป็นที่เรียบร้อยแล้วต้องคอยเติมฟืนในเตาให้ลุกอยู่ตลอดเวลา ฟืนที่ใช้ในการเคี่ยวน้ำตาลคือ ไม้สะแก ไม้ไผ่ที่ใช้ทำพะองเก่าๆ ใบตาล ทางตาลและผลแก่ของตาล
๔. จากนั้นเคี่ยวน้ำตาลสดจนเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งสามารถทดสอบได้โดยการใช้กระบวยไผ่ตักน้ำผึ้งขึ้นมาดู ถ้าย้อยแห้งติดที่ ปากกระบอกแสดงว่าใช้ได้แล้ว
๕. ให้เคี่ยวน้ำผึ้งที่บนเตาที่มีไฟอ่อนๆป้องกันการแข็งตัว
๖. เตรียมแบบพิมพ์ขนาดเล็ก ทำจากใบตาลที่ที่ขดเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ หรือ ๑ -๒ นิ้ว วางด้วยไม้ไผ่สานลักษณะกระจาดและใบตาลหนาประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร
๗. ใช้ไม้พายขนาดเล็กตักน้ำตาลที่ได้มาหยอดลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
๘. วางรอให้น้ำตาลแห้งและแข็งตัว จึงเก็บบรรจุในถุงพลาสติก
เทคนิคและข้อควรระวังคือ ในการเคี่ยวน้ำตาลให้เป็นน้ำผึ้งแล้วนำมาหยอดในแว่นใบตาลวงงกลมนั้น ไม่ควรใช้ไฟแรงเกินไปจะทำให้น้ำตาลไหม้ได้ และมีสีคล้ำไม่สวยงาม
ขั้นเก็บรักษาและเตรียมการเพื่อการบริโภค คือ เมื่อน้ำตาลแว่นแห้งและแข็งตัวแล้วให้รีบบรรจุถุง เพราะถ้ารอให้ช้าจะทำให้น้ำตาลแว่นละลายก็จะได้บรรจุถุง