การตั้งธรรมหลวง หมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งยิ่งใหญ่ โดยจะมีการเทศนาธรรมมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ เทศน์ติดต่อกันตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. จนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน หรือบางครั้งจนถึงเวลาตี ๓ ของวันรุ่งขึ้น คัมภีร์ที่ท่านนำมาเทศน์พระจะเทศน์เป็น ทำนอง ตามลีลาของบทร้อยกรอง ใช้เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเล็ก เสียงใหญ่ ตามลักษณะของเนื้อเรื่องหรือชื่อกัณฑ์เทศน์ เช่น กัณฑ์มัทรีต้องเสียงเด็ก แหลม กัณฑ์มหาราชต้องเสียงใหญ่ทุ้ม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ คาถาพัน อานิสงส์มหาชาติ และมาลัยสูตร เป็นต้น ซึ่งจะนำมาเทศน์ก่อนการเทศน์มหาเวสสันดรชาดก
๑.คัมภีร์มหาเวสสันดรถือเป็นวรรณกรรมชั้นเอกทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า มหาเวสสันดรชาดกจำนวน ๑๓ กัณฑ์ มาเทศน์ติดต่อกันตลอดวันและคืน
๒.ประชาชนที่เข้ามาฟังเทศน์ได้ร่วมพิธีกรรมสืบชะตาปีเกิดของตัวเอง
๓.ชาวพุทธโดยทั่วไปเชื่อว่า ถ้าได้ฟังเทศน์มหาชาติในงานประเพณีตั้งคำหลวง โดยฟังติดต่อกันทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวจบ จะได้ร่วมกับศาสนาของพระศรีอรียเมตไตย
๔.การแสดงธรรมในงานประเพณีตั้งธรรมหลวง ไม่ใช่เป็นการเทศน์แบบธรรมดา ผู้ฟังจะได้ฟังพระเณรเสียงดี ลีลาทำนองการเทศน์ที่ไพเราะบางกัณฑ์ก็ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน เช่น กัณฑ์ชูชก เป็นต้น
วัตถุประสงค์
๑.เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของล้านนา
๒.เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพราะงานตั้งธรรมหลวงจะประดับตกแต่งด้วยโคมไฟตุง (ธง) รูปสัตว์ต่างๆ ตลอดจนถึงการทำราชวัตรรอบมณฑลพิธี ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะล้านนาทั้งสิ้น
๓.เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเทศน์ธรรมพื้นเมืองเป็น และอ่านอักษรล้านนาได้
๔.เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีการตั้งคำหลวง
๕.เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
๖.เพื่อให้เรียนรู้คติธรรมต่างๆ ที่สอดแทรกในประวัติพระเวสสันดร
๗.เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา ไว้ซึ่งชาวล้านนาถือกันว่า ตราบใดที่ยังมีการเทศน์มหาชาติคือ การตั้งธรรมหลวงอยู่ พระพุทธศาสนาจะมีความมั้นคงยืนยาวอยู่ตราบนั้น