ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์
"ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" เป็นศาลหลักเมืองที่มีลักษณะเด่นไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆก็คือ เป็นศาลหลักเมืองที่ทำด้วยหินทรายเป็นเสมาหินไม่ใช่ไม้ ซึ่งตามบันทึกกรมศิลปากรระบุว่า เป็นใบเสมาหินนี้นำมาจากอุทยานเมืองประวัติศาสตร์ศรีเทพสมัยทวารวดีที่มีความหลั่งไหลทางอารยธรรมขอมที่มีอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปี เพราะฉะนั้นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงถือว่า ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย จากตำนานความเชื่อของคนเพชรบูรณ์ เชื่อกันว่าเป็นศาลหลักเมืองที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เพราะมีกำแพงเป็นอิฐปนศิลาที่สามารถป้องกันปืนไฟที่นำมาใช้ในการรบยุคนั้น น่าจะเป็นสมัยสมเด็จพระชัยราชา สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งได้มีการโยงตำนานความเชื่อของคนโบราณว่า เวลาที่มีการสร้างกำแพงเมือง ตรงประตูเมืองจะต้องมีการฝัง อิน จัน มั่น คง ได้มีเรื่องเล่าสืบมาว่า คนชื่ออิน ชื่อจัน หาได้แล้ว แต่คนชื่อมั่น ชื่อคงยังหาไม่ได้ ปรากฏว่า ระหว่างที่หาอยู่นั้นก็ไปพบเณร ๒ รูป ชื่อมั่น กับชื่อคงอยู่ที่วัดไตรภูมิทหารจึงได้นำตัวไปให้เจ้าเมืองทำพิธีฝังทั้งเป็นที่ประตูเมือง แต่ก่อนที่จะนำสามเณรทั้ง ๒ องค์นี้ไปฝังเจ้าอาวาสวัดไตรภูมิได้ร้องขอให้สามเณรทั้ง ๒ ฉันอาหารเพลก่อน แต่เนื่องจากทหารตระเวนหามาหลายวันและ
กลัวจะไม่ทันพิธีจึงไม่ยอมตามคำขอร้องของเจ้าอาวาสเจ้าอาวาสก็เลยโกรธสาปแช่งไว้ว่า ใครที่จะมาเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ขอให้อยู่ได้ไม่เกิน ๓ ปีต้องมีอันเป็นไปและนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมีเจ้าเมืองคนใดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดคนไหนอยู่ได้ถึง ๓ ปีสักคนเดียวและสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปาฏิหาริย์ที่หาคำตอบไม่ได้
ศาลหลักเมืองแห่งนี้จึงถือเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของผู้คนเมืองเพชรบูรณ์ทั้งหลายในแต่ละวันจะมีคนเดินทางมาสักการะบูชา ขอพรบนบานศาลกล่าวตามความเชื่อของผู้คนเมืองนี้ก็คือ เวลาที่มีความทุกข์ร้อนและ
สิ่งที่ต้องการสิ่งใดเช่น ต้องการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งการรับราชการ ดำเนินธุรกิจ ลูกสอบเข้าเรียนก็จะมากราบขอพรจากองค์เจ้าพ่อหลักเมืองกันเป็นจำนวนมากและถ้าได้สมความปรารถนาก็จะมีการมาแก้บนด้วยการแสดงมโหรสพ อาทิ ลิเก ภาพยนตร์ตลอดทั้งปี หรือถ้าขับรถยนต์ผ่านก็จะพบว่า มีการให้สัญญาณแตร ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าพ่อหลักเมืองแสดงให้เห็นถึงการเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในจังหวัดนี้อย่างแท้จริง