ชื่อจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย”
ประวัติความเป็นมาการเล่นจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย” ตามภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึงชื่อเรียกการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่มีลักษณะการเล่นคล้ายๆกับการเล่นจ้ำจี้มะเขือเปราะที่เราเคยได้ยิน หากย้อนกลับไปในสมัยวัยเด็ก หลายคนยังคงนึกการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้ออก โดยเฉพาะเด็กๆ เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน ก็จะสรรหาการละเล่นที่สามารถสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มาเล่นกัน ซึ่งสมัยก่อนเด็กๆจะมีการละเล่นที่ง่ายๆ ในการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกัน การเล่นจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย” จะใช้คนเล่นประมาณ ๕ คนขึ้นไป สามารถเล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่เป็นที่นิยมกันมากในหมู่เด็กผู้หญิง การเล่นจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย” เด็กๆจะเลือกสถานที่เล่นในบริเวณที่มีพื้นที่โล่งๆ หรือใต้ร่มไม้ การเล่นจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย” จะมีเพลงประกอบการเล่นเป็นภาษามลายูท้องถิ่น จากนั้นผู้เล่นทุกคน รวมทั้งผู้จี้ด้วย ต้องนั่งล้อมเป็นวงกลม แล้วคว่ำฝ่ามือทั้งสองข้างลงบนพื้นข้างหน้า ยกเว้นคนจี้จะคว่ำมือลงเพียงข้างเดียว อีกข้างจะใช้สำหรับจี้นิ้วทุกนิ้วมือที่คว่ำอยู่ในวง โดยเริ่มจี้จากมือของตนเองก่อน ขณะเริ่มจี้จะร้องเพลงประกอบการเล่นว่า
“จะแกเกาะ กากี อาแย อาแย ลาฆอ ดืองา ปูโยะห์
จะแจกะ ยาแล มาแล เมะปือลีตอ ฆี สูโละห์
สูโละห์ฮูแด บาตู สูโละห์ ฮูแด ฆาเลาะ
เมะนาตู วะ ฮูบง สาเลาะห์”
เมื่อพยางค์สุดท้ายของเพลงไปตกที่นิ้วมือของผู้เล่นคนไหน ผู้เล่นคนนั้นจะต้องพับนิ้วมือหนึ่งนิ้วเก็บไว้ ผู้จี้จะร้องเพลงประกอบและจี้ไปเรื่อยๆ ผู้เล่นคนไหนพับนิ้วมือเก็บได้หมดก่อน ผู้นั้นเป็นผู้ชนะ ถ้าจะเล่นต่อไปผู้ชนะจะเป็นคนจี้แทนคนเดิม ปัจจุบันการละเล่นจ้ำจี้ “จะแกเกาะ กากี อาแย” ภาษามลายูท้องถิ่นยังเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เด็กๆในท้องถิ่นให้ความสนใจ นอกจากเล่นสนุกแล้ว เด็กๆยังได้เพื่อนเล่นเพิ่มอีกด้วย