ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามของชาวชุมชนไทยพวน บ้านโคกมอญ เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจากเวียงจันทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ไทยพวน” ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอศรีมโหสถ
“บุญข้าวหลาม” เป็นประเพณีการทำบุญถวายข้าวหลาม ขนมจีนน้ำยาป่า แด่พระภิกษุสงฆ์วัดแสงสว่าง ซึ่งอยู่ ในเขตตำบลโคกไทย เหตุที่ถวายข้าวหลามนั้น อาจเป็นเพราะเดือน ๓ เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จึงนำข้าวอันเป็นพืชหลักของตนที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก ซึ่งเรียกว่าข้าวใหม่ มีกลิ่นหอม น่ารับประทานมาก นำมาทำเป็นอาหารโดยใช้ไม้ไผ่สีสุกเป็นวัสดุประกอบในการเผาข้าวหลาม เพื่อนำไปถวายพระภิกษุ
การเผาข้าวหลาม จะเริ่มเผาในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ โดยชาวบ้านจะออกไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่มากในหมู่บ้านมาทำกระบอกข้าวหลาม ซึ่งจะต้องเลือกลำไผ่ที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป ไม่มีตามด เพราะตามดจะทำให้มีกลิ่นเหม็นและไม่มีเยื่อ ทำให้ข้าวติดกระบอก ความยาวของปล้องไม้ไผ่ห่างพอควร ยาวประมาณ ๑๘ นิ้ว นำไม้ไผ่ทั้งลำมาตัดหรือเลื่อยเป็นท่อนๆ โดยมีข้อต่อที่ก้นกระบอก จากนั้นนำข้าวเหนียวที่มีกะทิผสมเรียบร้อยแล้ว ใส่กระบอกนำไปเผาไฟที่ลานบ้าน โดยขุดดินเป็นรางตื้นๆเป็นที่ตั้งกระบอกข้าวหลาม ส่วน ๒ ด้านของกระบอกข้าวหลาม ก่อกองไฟขนานไปกับข้าวหลาม บางบ้านใช้ต้นไม้ที่ตายแล้วทั้งต้นมาเป็นเชื้อเพลิง เช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ชาวบ้านจะนำข้าวหลามไปทำบุญที่วัด
การทำบุญข้าวหลามของชาวไทยพวน ยังคงทำกันตามประเพณีดั้งเดิม และผสมผสานกับประเพณีไทยก็คือ การจุดบั้งไฟที่วัดต้นโพธิ์ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี กลางเดือน ๓ ชาวบ้านไทยพวนซึ่งอยู่ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแสงสว่างประมาณ ๗ กิโลเมตร สมัยก่อนต้องเดินด้วยเท้าไปปิดทองงานประจำปีวัดต้นโพธิ์ โดยใช้ทางผ่านบ้านสระข่อย บ้านด่าน บ้านชำหว้า ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายลาวพวนอยู่เป็นจำนวนมาก ประเพณีบุญข้าวหลาม จึงแพร่หลายสู่บ้านชาวไทยพวน และรับเป็นประเพณีของชนกลุ่มตนเป็นประเพณี “ขึ้นเขาเผาข้าวหลาม” ของชาวชุมชนบ้าน โคกมอญ ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มาจนถึงทุกวันนี้