บ้านท้าวคำวัง ปรากฏชื่อเก่าในบันทึกท้ายใบลานของวัดเรียกว่า “ท้าวคำวังหัวโท่ง”
ท้าวคำวังนั้นเป็นชื่อของบุคคล ชื่อคำวัง มียศทางราชการตำแหน่ง “ท้าว” ท้าวเป็นตำแหน่งทางราชการของบ้านเมืองแต่งตั้งให้บุคคลมีหน้าที่เรียกเก็บส่วยต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ข้าว ของป่า และเงิน เป็นต้น ต่อมาตำแหน่ง “ท้าว” หมายถึง ผู้ใหญ่บ้าน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ ให้ยกเลิกตำแหน่งท้องถิ่น ให้เรียก ผู้ใหญ่บ้าน เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ท้าวคำวังปรากฏในใบบอกของกรุงเทพฯ ให้บำเหน็จรางวัลแก่บุคคลที่มีความชอบในการศึกสงครามตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏชื่อ ท้าวคำวังอยู่ 3 แห่ง เข้าใจว่ามีบุคคลชื่อคำวัง มีตำแหน่งเป็นท้าวอยู่ 3 คน และในใบบอกนั้นมีชื่อของท้าวบุญเรือง ท้าวผายู อยู่ด้วย ซึ่งมีความสอดคล้องกับคำบอกเล่าของนายจันทร์ รัตนจีระวงศ์ ว่า ท้าวบุญเรือง ท้าวคำวัง ท้าวผายู เป็นพี่น้องกัน ได้พากันมาตั้งหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่อำเภอหางดง และชาวบ้านได้นำเอาชื่อของผู้นำทั้ง 3 มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านของตน