หลวงพ่อผินะ ปิยธโร มีนามเดิมว่า ทวาย หาญสาริกิจ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ที่บ้านหัวลำโพง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ในวัยเด็กหลวงพ่อมีโรคประจำตัวรักษาไม่หาย หลังการร้องไห้ทุกครั้ง จะต้องมีอาการชักจนหน้าเขียว โยมมารดาพาไปหาหมอรักษาโรค แต่อาการไม่ดีขึ้น ครั้นพอหมดหนทางจึงได้พาบุตรชายไปหาหลวงพ่อสิน เจ้าอาวาสวัดหนองเตา ต.โนนขี้เหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี หลวงพ่อสินระบุว่า ชื่อทวาย เป็นกาลกิณี ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นผินะ มาจากคำว่าผิน แปลว่า หันหน้า, หันหลัง, เปลี่ยนทิศทาง, ไม่แยแส, หรือเลิกคบกัน นับแต่นั้นอาการดังกล่าวได้ทุเลาลง
ต่อมาพ.ศ.๒๔๘๑ โยมบิดาได้ล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่ออุทิศส่วนกุศล พออายุครบบวชจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดหนองเต่า โดยมีพระครูอุดมคุณาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอทัพทัน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาอำนวย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในระหว่างเป็นพระภิกษุ พระผินะได้ขออนุญาตเจ้าอาวาสออกไปจำพรรษาที่วัดเกาะเทโพ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ได้ศึกษาพระธรรมจากหลวงตาคำ ให้รู้ถึงสังขารร่างกายมนุษย์และสัตว์ ล้วนมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่างกายเน่าเปื่อย
พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านสอบได้นักธรรมตรี และออกธุดงค์ ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐาน ณ วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ก่อนจะเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัด ในภาคเหนือ ภาคใต้ ประเทศพม่า ลาว เขมร อินเดีย
พ.ศ.๒๔๘๕ พระผินะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และพระอาจารย์อีกหลายรูปที่ท่านได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์
พ.ศ.๒๕๒๗ หลวงพ่อผินะจาริกธุดงค์ผ่านมาถึงวัดโบราณร้าง บ้านสนมลาว ต.โคกแย้ อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นสถานที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดสนมลาวตลอดมาจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ สิริอายุรวม ๘๙ ปี พรรษา ๖๔ โดยที่ร่างของหลวงพ่อผินะ นั่งหมดลมหายใจในท่านั่งขัดสมาธิอย่างสงบ ปัจจุบันร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อยบรรจุไว้ในโลงแก้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดสนมลาว