ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 28' 59.9999"
16.4833333
Longitude : E 99° 31' 12"
99.5200000
No. : 192126
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
Proposed by. culture Date 31 January 2014
Approved by. mculture Date 31 January 2014
Province : Kamphaeng Phet
0 1820
Description
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ตั้งอยู่ระหว่างโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมกับพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ถนนปิ่นดำริห์ ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีเพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้นแหล่งโบราณคดีและจากการขุดแต่ง บูรณะโบราณสถาน ภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาตร์และศิลปกรรมของท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหลัก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เริ่มสร้างเมื่อพุทธศักราช 2510 และทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2514 โดย ฯพณฯ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น

การจัดการแสดง: โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของแต่ละยุคสมัยที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้นแหล่งโบราณคดีและจากการขุดแต่ง บูรณะโบราณสถาน ภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชรเป็นหลัก พร้อมคำบรรยาย ภาพถ่าย ภาพลายเส้น แผนที่และแผนผังประกอบการนำเสนอตัวอาคารพิพิธภัณฑสถานเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ภายในอาคารมีนิทรรศการถาวรจัดแสดงให้ประชาชนชมดังนี้

1. ชั้นล่าง : จัดแสดงเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานและดำรงชีพของมนุษย์ ชุมชนตั้งเดิมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 2,500 - 1,500 ปีมาแล้ว ความสำคัญของเมืองโบราณต่างๆในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 เช่น นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร โกสัมพี คณฑี และบางพาน กำแพงเพชรในฐานะเป็นท้องที่ของที่ตั้งเมืองบริวารทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย กำแพงเพชรในฐานะเมืองเจ้าพระยามหานคร หัวเมืองชั้นโท ชุมทางการค้าและเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ จนกระทั่งมาเป็นจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน โบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจในอาคารพิพิธภัณฑสถานชั้นล่าง ได้แก่

- เครื่องมือหินขัดแบบต่างๆ ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบตกแต่งลายขูดขีด ลายเชือกทาบและแบบมีสันที่กลางตัวภาชนะ คล้ายกับที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม จังหวัดกาญจนบุรี จากแหล่งโบราณคดีเทือกเขากะล่อน บ้านหาดชะอม ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี กำหนดอายุประมาณ 2,500 - 1,500 ปีมาแล้ว

- ชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาแบบโรมัน แวดินเผาซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการปั่นด้าย ตะคันดินเผาสำหรับจุดไฟให้แสงสว่าง เครื่องประดับอาทิ กำไลและลูกปัดหิน ลูกปัดแก้วสีต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยเหล็ก สำริดและชิน จากแหล่งชุมชนโบราณร่วมสมัยทวารวดี ประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร บ้านคลองเมือง บ้านลานดอกไม้และบ้านโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร

- เครื่องสังคโลกแบบสุโขทัย มีทั้งที่เป็นภาชนะและตุ๊กตา ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบแบบอยุธยา เครื่องถ้วยลายครามแบบจีน และภาชนะสำริด ซึ่งพบระหว่างการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในและนอกเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 22

- เงินตามสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

- เครื่องมือและเครื่องใช้สมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับมอบจากหน่วยงานราชการและเอกชนในจังหวัดกำแพงเพชร เช่น เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องทองเหลือง ตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องชั่งตวงวัดแบบจีน เครื่องแก้ว เครื่องหนัง ปืนและนาฬิกาแบบตะวันตกหรือยุโรป หม้อดินเผาแบบมอญหรือพม่า ซี่งสามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี

2. ชั้นบน : จัดแสดงประติมากรรมศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยาที่พบในจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุโขทัย ประกอบด้วยรูปเคารพในพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป พระพิมพ์และแม่พิมพ์พระ เทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ภาพดินเผาและปูนปั้นประดับโบราณสถาน ส่วนประกอบสถาปัตยกรรม อาทิ ปั้นลมและช่อฟ้าสังคโลก กระเบื้องเชิงชาย กระเบื้องมุงหลังคาและบราลี โบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจในอาคารพิพิธภัณฑสถานชั้นบน ได้แก่

- เทวรูปพระอิศวรหรือพระศิวะ ศิลปะอยุธยา หล่อด้วยสำริด สูง 210 เซนติเมตร ที่ฐานมีจารึกอักษรไทยแบบสุโขทัย ภาษาไทยความว่า เจ้าพระยาธรรมาโศกราช เจ้าเมืองกำแพงเพชรประดิษฐานเทวรูปองค์นี้เมื่อพุทธศักราช 2053 เพื่อให้คุ้มครองสัตว์สี่ตีน สองตีนในเมืองกำแพงเพชรและเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ "พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์" (หมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กับพระอาทิตย์วงศ์ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชในเวลาต่อมา)

- เทวรูปพระนารายณ์หรือพระวิษณุ และเทวสตรี อาจเป็นพระอุมาชายาพระอิศวรหรือพระลักษมีชายาพระนารายณ์ ศิลปะสุโขทัยหล่อด้วยสำริด ชำรุดเหลือเพียงส่วนพระองค์ เดิมประดิษฐานคู่กับพระอิศวรที่ศาลพระอิศวร

- เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร (พุทธศตวรรษที่ 20 - 21) สูง 90 เซนติเมตร พบที่วัดช้าง (วัดนาควัชรโสภณ) อำเภอเมืองกำแพงเพชร ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ยาว พระหนุเสี้ยม พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บาง ขมวดพระเกศารูปก้นหอยสูงแหลม นับเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสกุลช่างกำแพงเพชรโดยเฉพาะ

- พระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างกำแพงเพชร (พุทธศตวรรษที่ 20 -21) หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง 28.5 เซนติเมตร สูง 46.5 เซนติเมตร มีสภาพสมบูรณ์ ขุดพบที่วัดพระธาตุในเมืองเก่ากำแพงเพชร

- ใบเสมาหินชนวน ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 21 - 22) สูง 245 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร ย้ายมาจากวัดพระนอนในเขตอรัญญิกนอกเมืองเก่ากำแพงเพชร บริเวณอกเสมาเหล่านี้มีลายจำหลักฝีมือประณีตงดงามเช่น รูปเทพนม ภาพจับรามเกียรติ์ และช้าง อยู่ท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา

- ภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์วัดพระแก้วในเมืองเก่ากำแพงเพชร ประกอบด้วยรูปยักษ์ นาค และโดยเฉพาะเทพหรือเทวดา ที่แสดงให้เห็นลักษณะเครื่องทรง ถนิมพิมพาภรณ์ รวมทั้งเครื่องประกอบยศของชนชั้นสูงในสมัยอยุธยา (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 - 22)

- ภาพดินเผาประดับฐานเจดีย์วัดช้างรอบในเขตอรัญญิก นอกเมืองเก่ากำแพงเพชร ประกอบด้วยรูปนางอัปสรรำ กินรี ยักษ์ ครุฑ และหงส์ ทำขึ้นในสมัยอยุธยา (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 - 22) มีความอ่อนช้อยสวยงามยิ่ง

- นอกจากนี้ ยังมีโบราณศิลปวัตถุขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่ง จัดแสดงอยู่ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑสถาน หรือกลางแจ้ง

3. โบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจ ได้แก่

- ปืนใหญ่สำริด ขุดพบบริเวณวงเวียนต้นโพธิ์เชิงสะพานกำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร บนตัวปืนทุกกระบอกที่พบมีคำจารึกภาษาไทยว่า "ใหญ่ชวา" และบอกน้ำหนักกระสุนดินดำที่จะใช้ด้วย สันนิษฐานว่า พ่อค้าบริษัทตะวันออกไกลของฮอลันดา ซึ่งได้สัมปทานค้าหนังกวางในเมืองกำแพงเพชรสมัยอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นผู้นำปืนมาขายให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งขณะนั้นฮอลันดา ได้ชวาหรืออินโดนีเซียปัจจุบันเป็นเมืองขึ้น ปืนเหล่านี้จึงอาจหล่อหรือมาจากชวา

- โอ่งสังคโลกเคลือบสีน้ำตาล ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 - 20) ได้จากวัดช้าง (วัดนาควัชรโสภณ) อำเภอเมืองกำแพงเพชร สูง 105 เซนติเมตร ปากกว้าง 34 เซนติเมตร

- สิงห์นั่งปูนปั้น ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 21 - 22) ได้จากวัดช้าง (วัดนาควัชรโสภณ) อำเภอเมืองกำแพงเพชร

- ฐานส้วมศิลาแลง พบขณะขุดแต่งบริเวณวัดอาวาสใหญ่ ในเขตอรัญญิกนอกเมืองเก่ากำแพงเพชร เป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยของสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

โบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญจัดแสดงภายในอาคารชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
1. ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์
2. พระพุทธรูป ชิน แบบหริภุญไชย
3. พระพุทธรูป สำริด แบบอู่ทอง
4. โถพร้อมฝา สังคโลก แบบสุโขทัย
5. ชามลายคราม สมัยอยุธยา

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ จัดแสดงภายในอาคารชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
1. เทวรูปพระอิศวร
2. พระพุทธรูป สกุลช่างกำแพงเพชร
3. เศียรเทวดาปูนปั้น
4. หัวมกร จากวัดฆ้องชัย
5. นางอัปสรรำ
6. กระเบื้องเชิงชายรูปเทพนม

Category
Museum
Location
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
Road ถนนปิ่นดำริห์
Amphoe Mueang Kamphaeng Phet Province Kamphaeng Phet
Details of access
http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่