1. ชื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบอำเภอคอนสาร
2. ชื่อลายผ้าลายขิดดอกแก้ว เสื้อไทคอนสาร
3. ประวัติความเป็นมา เรื่องราวบนลายผืนผ้า
คอนสารเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีนายภูมี ชาวเมืองนครไทย เมืองพิษณุโลก ได้นำพรรคพวกมาเที่ยวป่า เห็นว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหัวหน้าหมู่บ้านอยู่ที่นี่ ต่อมาได้นำขี้ผึ้ง งาช้าง และดินประสิว เป็นเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าเป็น "หมื่นอร่ามกำแหง" มีตำแหน่งเป็นนายหมวด มีหน้าที่รักษาป่า ผึ้ง และมูลค้างคาวในบริเวณนี้ เนื่องจากระยะทางจากกรุงเทพมหานครถึงบ้านคอนสารไกลมาก พระราชสารตราตั้งนั้นต้องห่อผ้า แล้วใช้ไม้คอนมาจนถึงหมู่บ้านที่ตนอยู่ จึงเรียกหมู่บ้านว่าคอนสารมาจนทุกวันนี้
ต่อมาหมื่นอร่ามกำแหงได้เลื่อนยศเป็น "หลวงพิชิตสงคราม" เป็นเจ้าเมืองคอนสารคนแรก จนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองคอนสารจึงยุบมาเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอภูเขียว และได้แยกเป็นกิ่งอำเภอคอนสารเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑ได้ยกฐานะเป็นอำเภอคอนสารเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๓
จะเห็นว่าภาษาพูดของชาวคอนสารแตกต่างจากภาษาอีสานทั่วไป เนื่องจากสำเนียงจะเหมือนภาษาของชาวนครไทยและหล่มสักเพราะบรรพบุรุษมาจากเมืองพิษณุโลกนั่นเองคนทั่วไปและชาวคอนสาร จึงมักเรียกตนเองว่า "ไทคอนสาร"
การทอผ้าเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของคนคอนสารที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาช้านาน การทอผ้าลายขิดลายดอกแก้ว ก็เป็นการทอผ้าประเภทหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนิยมทอผ้าลายขิดเพื่อทำหมอน แต่เมื่อประมาณปี ๒๕๔๗ เสื้อไทคอนสาร
(เสื้อสีขาวตกแต่งด้วยลายขิดลายดอกแก้ว) ได้รับความนิยม และถือเป็นเอกลักษณ์ของไทคอนสาร นางไพรัตน์ เลิศคอนสาร
ซึ่งรับเย็บผ้าด้วย และรับทอผ้าด้วย และได้ทอผ้าลายขิดลายดอกแก้วมาจนปัจจุบัน ซึ่งน้อยคนที่จะทอผ้าลายขิดสืบเนื่องมาจากต้องใช้เวลาในการทอนานกว่าจะได้ลายขิดแต่ละเส้น
๔. ความโดดเด่น/อัตลักษณ์เฉพาะ
เสื้อไทคอนสารเป็นเสื้อที่ทำมาจากผ้าฝ้ายสีขาวตกแต่งลายขิดดอกแก้ว มีลักษณะคล้ายเสื้อม่อฮ้อม ใส่ได้ทุกโอกาส (มีผ้าขิดตกแต่งในส่วนต่างๆ ของเสื้อตามต้องการ) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอคอนสาร
๕. พื้นที่ปฏิบัติ/แสดงอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
๖. ความสัมพันธ์กับชุมชน
ชาวอำเภอคอนสาร มีชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เกิดความภาคภูมิใจในการคงเอกลักษณ์ที่สืบทอด ประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการสะท้อนความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของชุมชนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก่อให้เกิดจิตนาการคิดค้น นับว่าเป็นจุดเด่นจุดขายของชุมชน สร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน เกิดการค้าท้องถิ่น เสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
๗. ผู้ถือปฏิบัติและผู้สืบทอด
๗.๑ นางไพรัตน์ เลิศคอนสาร
๗.๒ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคอนสาร
๘. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่ร่วมจัดกิจกรรม
๘.๑ ที่ทำการปกครองอำเภอคอนสาร
๘.๒ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคอนสาร
๘.๓ กศน.อำเภอคอนสาร
๘.๔ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอคอนสาร
๙. จำนวนนักท่องเที่ยว/ผู้มาร่วมงานปีละประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน