เครื่องจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่มีมาช้านานและผลิตกันแทบทุกภาคของประเทศไทย เครื่องจักสาน จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีการสร้างสรรค์และสืบทอดต่อเนื่องกันมาแต่อดีต
จึงทำให้เครื่องจักสานพื้นบ้านของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะงานแตกต่างกันออกไป
เครื่องจักสานถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่นสะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ทำเครื่องจักสานซึ่งชาวบ้านจะมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นอย่างดี นำมาดัดแปลงแปรรูปเป็นวัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักสานด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียนรู้จากการสังเกต การทดลองสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
จนทำให้เครื่องจักสานแต่ละชนิดมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยที่สมบูรณ์ลงตัว คุณค่าอีกประการหนึ่ง
ของเครื่องจักสานคือคุณค่าทางศิลปะและความงาม เครื่องจักสานหลายชนิดมีรูปทรงโครงสร้างและลวดลายที่ลงตัวงดงามยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นเทียบได้
ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ชาวบ้านขวากเหนือที่มีความสนใจในเรื่องการจักสาน และปราชญ์ผู้รู้เรื่องการจักสาน
ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้นในตำบลท่าข้าม เพื่อร่วมกันจักสานผลิตภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการจักสาน นอกจากนั้นยังมีวัสดุอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น กก หวาย ใบลาน ใบมะพร้าว เป็นต้น วัสดุต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดลวดลายและรูปทรงเครื่องจักสานมีลักษณะเฉพาะตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการจักสาน ได้แก่ ขันโตก บายศรี ตะกร้า โต๊ะเก้าอี้ เป็นต้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากหวาย มีสมาชิกโดยรวมประมาณ 2๐ คน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๙ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากหวาย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอาชีพ
การจักสานหวาย จาก ก.ศ.น.อำเภอเวียงแก่น ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากหวาย ได้แก่ ตะกร้าหวาย ขันโตกหวาย
ชุดเฟอร์นิเจอร์ เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ได้มีหน่วยงานของรัฐได้เข้าไปช่วยเหลือให้การสนับสนุนงบประมาณและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าสนใจและทันสมัยมากขึ้น
ส่งผลิตภัณฑ์จักสานจากหวายไปจำหน่ายยังโครงการหลวงเชียงใหม่ ขายออนไลน์ เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน
ปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์จากหวาย ตั้งอยู่บริเวณวัดขวากเหนือ ตำบลท่าข้าม มีสมาชิกเหลืออยู่ประมาณ 10 คน มีนายจำเริญ นันชัย เป็นประธานกลุ่มฯ และนางสาวอัมพร แก้วสุข เป็นเลขานุการกลุ่มฯ