วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่บรรดาพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ โอวาทปาติโมกข์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ได้แก่ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลักธรรมคำสอนดังกล่าวถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชน ควรจะได้รำลึกถึงพระคุณของพระองค์ด้วยสวดมนต์ รักษาศีล และเจริญจิตภาวนา ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้ศึกษาหลักธรรมและปฏิบัติกิจกรรมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อขัดเกลาจิตใจเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสิงห์บุรี ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมประชาชนให้นำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม และเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้สังคมมีคุณภาพเผยแพร่หลักธรรมสู่เยาวชนและประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในด้านความมั่นคงของ ๓ สถาบัน อันเป็นที่รักยิ่งของ ปวงชนชาวไทย (National Pride Index) โดยการเทิดทูนและสนองงานด้วยความจงรักภักดีของสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อเทิดทูนและยืนยงดำรงไว้ซึ่งสถาบันอันสูงสุดของประเทศ และนโยบายด้านการนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคม (Value Creation) ในด้านการสร้างสรรค์ อารยธรรมที่ดี สู่วิถีชีวิตและสังคมคุณภาพ โดยการสร้างค่านิยม จิตสำนึกและภูมิปัญญาของคนไทย โดยใช้ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมเป็นเครื่องหล่อหลอม ยึดเหนี่ยวและสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมและมีค่านิยมที่ดีงามให้เกิดวิถี การดำเนินชีวิตในสังคมอย่างรู้รักสามัคคี ของคนในชาติ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสิงห์บุรีตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๕๕ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวพุทธ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ของจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อดำรงพระพุทธศาสนา มรดก และสมบัติอันล้ำค่ายิ่งของชนชาวไทย ไว้เป็นศูนย์รวม แห่งจิตใจ เป็นรากฐานสำคัญทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งหล่อหลอมเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยไว้และ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน เป็นการแสดงตนให้ปรากฎว่า ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตนนั่นเอง
กรมการศาสนาได้ระบุถึงพิธีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ โดยสรุป ดังนี้
1. ให้ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นุ่งขาว ห่มขาวหรือแต่งเครื่องแบบของตนเรียบร้อยแล้วแต่กรณี ไปยังบริเวณพิธีก่อนกำหนด นั่งรอเวลาในที่ที่ทางวัดจัดไว้
2. ถึงเวลากำหนด พระสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปเข้าสู่บริเวณพิธี
3. ให้ผู้แสดงตนเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระ ส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เปล่งวาจาบูชาพระรัตนตรัย
4. เข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ตรงหน้าพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน ถวายพานเครื่องสักการะแล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง ถ้าแสดงตนหมู่ ทุกคนคงนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่ หัวหน้าหมู่คนเดียวนำสักการะที่เดียวเข้าถวายแทนทั้งหมู่แล้วกราบพร้อมกับหัวหน้า
5. เปล่งคำปฏิญาณตนหน้าหน้าสงฆ์ทั้งคำบาลี และคำแปลเป็นตอน ๆ ไป ดังนี้แ
คำนมัสการและคำแปล
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
(ว่า 3 ครั้ง)
คำปฏิญาณและคำแปล
เอสาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ,
ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทฺธมามโกติ (หญิงว่า พุทฺธมามกาติ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ.
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า
ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิงคำปฏิญาณให้เปลี่ยนดังนี้
เอสาหํ เป็น ชายว่า เอเต มยํ (หญิงว่า เอตา มยํ
คจฺฉามิ เป็น คจฺฉาม (ทั้ง ชายและหญิง)
พุทฺธมามโกติ เป็น ชายว่า พุทฺธมามกาติ หญิงว่า พุทฺธมามกา (เหมือนเดิม)
มํ เป็น โน (ทั้ง ชายและหญิง)
คำแปลก็เปลี่ยนเฉพาะคำ “ข้าพเจ้า” เป็น “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เท่านั้น นอกนั้นเหมือนเดิม สำหรับหญิงผู้ปฏิญาณคนเดียวว่า เอสาหํ ฯลฯ ถึง พุทฺธมามโกติ เปลี่ยนเป็นว่า พุทฺธมามกาติ ถ้าหญิงกับชายปฏิญาณคู่กันเฉพาะคู่เดียวให้ว่าแบบปฏิญาณคนเดียว คือ ขึ้น เอสาหํ ฯลฯ ถึง พุทฺธมามโกติ ชายว่า หญิงเปลี่ยนว่า พุทฺธมามกาติ เท่านั้น
เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดประนมมือรับ “สาธุ” พร้อมกัน ต่อนั้นให้ผู้ปฏิญาณลดลงนั่งราบแบบพับเพียบกับพื้นแล้วประนมมือฟังโอวาทต่อไป
6. เมื่อจบโอวาทแล้ว ให้ผู้ปฏิญาณรับคำว่า “สาธุ” แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือน้อมตัวลงเล็กน้อย กล่าวคำอาราธนาเบญจศีล และสมาทานศีล ทั้งคำบาลีและคำแปล
7. เมื่อจบการสมาทานศีลแล้ว ผู้ปฏิญาณพึงกราบอีก 3 ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์ พึงนำมาประเคนในลำดับนี้ เสร็จแล้วนั่งราบตรงหน้าพระสงฆ์เตรียมกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี