วัดพระแก้วเดิมเรียกว่า “วัดหัวเมือง” แต่ต่อมาชาวบ้านเรียกติดปากว่า “วัดเจดีย์กลางทุ่ง” เพราะมีเจดีย์ใหญ่ทรงระฆังคว่ำ อยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา สภาพ เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่องค์หนึ่งฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน เป็นชั้น ๆ ถึง 7 ชั้น เป็นระฆังคว่ำต่อด้วยแท่นบัลลังก์ และปล่งโฉม สูงประมาณ 35 เมตรสภาพปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ขึ้น ราว พ.ศ. 2526 โดยช่างกรมศิลปกรรม และยังมีเจดีย์ราย รอบ ๆ บริเวณอีก 9 องค์ ลักษณะเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และได้ชื่อว่า วัดพระแก้ว ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียน เป็นสมบัติของชาติขึ้นกับกรมศาสนา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535
“วัดพระแก้ว(เจดีย์กลางทุ่ง)”ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เป็นวัดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง (สมชื่อ) ริมคลองชลประทาน ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำน้อยประมาณ 2 –3 กิโลเมตร และห่างลงมาทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ (หน้าพระธาตุ) - วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ประมาณ 4 –5 กิโลเมตรครับ
วัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง บางทีก็เรียกกันว่า“วัดหัวเมือง”ดูโดยทั่วไปก็เหมือนไม่มีความสำคัญ เช่นเดียวกับวัดร้างทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่มากมายในเมืองสิงห์บุรี ที่หลายวัด“ร้าง”จากสาเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 การย้ายถิ่นฐานของชุมชนบ้านเรือนจากภัยธรรมชาติหรือโรคร้าย วัดร้างเหล่านี้ก็มักจะมีพระสงฆ์รุ่นใหม่ ๆ เข้าไปครอบครอง บ้างก็ขอพระราชทาน“วิสุงคามสีมา”บูรณะวัด สร้างเป็นวัดใหม่ขึ้นมา“ซ้อนทับ”อีกที
การ“ซ้อนทับ”ของวัดร้างกับวัดใหม่ บ้างก็เป็นผลดี บ้างก็เป็นผลเสีย เพราะหลายครั้งก็มีการทำลาย“หลักฐาน”ทาง”โบราณคดี”ในพื้นที่โดยไม่ตั้งใจ ไปจนยากที่จะสืบสวนเรื่องราวที่ไม่มีการจดบันทึกไว้ เพราะมีแต่ซากของอาคาร และโบราณวัตถุที่แตกหักกระจัดกระจาย
บางวัด“ซ้อนทับ”ก็มีการ“สร้าง”ประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยประวัติศาสตร์กระแสหลักชาตินิยม (แบบนี้มักจะอ้างให้ไปเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์องค์สำคัญ หรือโยงไปเกี่ยวเหตุการณ์สำคัญตามหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์) หรือบางทีก็ไปเอาเรื่องราวของ“นิทานท้องถิ่น”ที่เล่าต่อกันมาปากต่อปาก (มุขปาฐะ) ซึ่งก็มักจะนำเรื่องราว“เหนือธรรมชาติ”ภูตผีปีศาจ อภินิหาร ปาฏิหาริย์ และเรื่องราวสยองขวัญมาใส่ไว้ให้ดูขลัง ดูศักดิ์สิทธิ์ !!!
ลายวัดก็ตีอายุสมัยของ“ซากวัด”ที่มาทับซ้อนว่า มีอายุเก่าแก่ ตามความเชื่อ อคติหรือประสบการณ์ของพระผู้บุกเบิก หรือ ญาติธรรมที่พอมีความรู้รวบรวมมาอธิบาย
วัดร้างหลายแห่ง จึงกลายมาเป็น“วัดใหม่”ที่ดูจะหา“ราก”ฐานที่แท้จริงได้ยาก นอกจากการ“คาดเดา”หรือ“จินตนาการ”เอาเอง
วัดแห่งนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น นั่นก็คือ“การเป็นวัดที่มีศาสนสถานตั้งอยู่กลางน้ำ”แบบเดียวกับวัดสระศรี วัดตระพังเงิน วัดตระพังทองในเขตกรุงสุโขทัย (เมืองเก่า)
.รูปแบบเจดีย์ทรง“ระฆัง”ของวัดพระแก้ว มีความเหมือนกับ“เจดีย์ทรงลังกา”ในเขตวัฒนธรรมสุโขทัยมากกว่าจะเหมือนของกรุงศรีอยุธยาและสุพรรณภูมิ ประกอบกับการวางแผนผังที่มี“คูน้ำ”ขนาดใหญ่ล้อมรอบ ไม่มีกำแพงกั้น ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ“อุทกุกฺเขปสีมา”หรือ“สีมากลางน้ำ”ในคติของนิกายลังกา“สิงหลภิกขุ”.
“อุทกุกฺเขปสีมา”หรือ“อุทกสีมา”ก็คือ“เขตสมมุติ”ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ มีระยะห่างจากฝั่ง ตามแบบแผนที่ว่า"ไม่น้อยกว่าการวักน้ำสาดไปโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางสาดไปไม่ถึงเขตของสีมา"ซึ่งเขตสมมุตินี้จะใช้เป็นเรือนแพ หรือเป็นเรือก็ได้แต่ห้ามเคลื่อนที่ในระหว่างการประกอบ“สังฆกรรม”
ในยุคโบราณ มีความเชื่อว่า การอุปสมบทหรือการทำสังฆกรรมใน“สีมากลางน้ำ”จะมีความบริสุทธิ์และ“เข้าถึง”พระพุทธองค์ได้มากกว่า“พัทธสีมา”แบบทั่วไปที่อยู่บนบก อีกทั้งยังมีความสะดวก เพราะเป็นโบสถ์หรือสีมาที่ถูก“สมมุติ”ขึ้น เมื่อสิ้นสุดพิธีกรรม พื้นที่“อุทกสีมา”ในสระน้ำนั้นก็คืนกลับสู่ธรรมชาติโดยอัตโนมัติ ในขณะที่“พัทธสีมา”จะมีความยุ่งยากในการจัดการทางพิธีกรรมมากกว่า