เกาะสีชัง เป็นเกาะใหญ่ ตั้งอยู่กลางทะเล ตรงกันข้ามกับอำเภอศรีราชา เป็นอำเภอที่ 10 ของจังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร มีฐานะเป็นอำเภอ อยู่ห่างจากชายฝั่งศรีราชา 12 กิโลเมตร ในอดีตเกาะสีชังอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่กับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนกระทั้งได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอในปัจจุบัน คำว่า สีชัง นี้ จะมีมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานจากหนังสือกำสรวล ศรีปราชญ์ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา เรียกเกาะสีชังว่า สระชัง ดังในโคลงบทที่ 78 ที่พรรณนาถึงเกาะสีชังไว้ว่า
มุ่งเห็นละล่ายน้ำ ตาตก แม่ฮา
เกาะสระชงงงชลธี โอบอ้อม
มลกกเห็นพร่ยงรก เกาะไผ่ ฟุ้นแม่
ขยงสระดื้อล้ำย้อม ยอดคราม
จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คำว่า สระชัง คงจะเรียกขานกันมาก่อน ต่อมาการออกเสียง สระชัง อาจเพี้ยนไปเป็นสีชัง ซึ่งเป็นเสียงสี้นและออกเสียงง่ายกว่า เช่นเดียวกับคำอื่นๆ เช่น ปางปลากง เป็น บางปะกง บางเชือกหนัง ออกเสียงเป็น บางฉนัง วัดเสาประโคน ออกเสียงเป็น วัดเสาวคนธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานกันเป็นหลายนัย เกี่ยวกับชื่อ สีชัง บ้างก็ว่าสีชัง มาจากภาษาจีน คือ ซีชีน หรือ ชันฃัน แปลว่า สี่คนทำไร่ โดยมีเรื่องเล่าว่า มีพ่อค้าจีนสี่คนล่องเรือสำเภาผ่านมาค้าขายแถบเกาะสีชัง แล้วคิดอยากจะมาทำไร่บนเกาะ จึงขึ้นมาสำรวจแล้วปักหลัก อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้เป็นพวกแรก บ้างก็ว่าสีชังน่าจะมาจากภาษาบาลีว่า สีห์ ชังฆ์ แปลว่า แข้งสิงห์ เพราะมองไกลๆ แล้วเกาะนี้มีรูปร่างคล้ายๆ ขาสิงโต ส่วนข้อสันนิษฐานสุดท้ายกล่าวว่า มีฤาษี จึงพร้อมจกันขนานนามเกาะนี้ว่า ฤาษีชัง ด้วยเหตุที่ท่านเบื่อหน่ายทางโลกอย่างยิ่งนั่นเอง ส่วนคำว่า สระชัง นี้ อาจเพี้ยนเสียมาจากคำว่า สดึง หรือ จทึง ที่แปลว่า แม่น้ำ หรือห่วงน้ำ ในภาษาเขมร คำอื่นๆ ในภาษาไทยที่เพี้ยนมา จากข้อมูลหนังสือกฐินพระราชทาน วัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร อำเภอเกาะสีชัง ปี พ.ศ.2550
จากหลักฐานต่างแสดงว่าได้มีการเรียกชื่อเกาะสีชังว่า สระชังกันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า คำว่า สระชัง ได้เลือนมาเป็นสีชัง ตั้งแต่สมัยใด จากหลักฐานทางวรรณคดีเท่าที่พบปรากฏว่าได้มีการใช้คำว่า สีชัง เมื่อประมาณ พ.ศ.2370 ซึ่งเป็นที่ที่นายมี ศิษย์ของสุนทรภู่เดินทางไปเมืองถลาง และได้แต่งนิราศถลางไว้ โดยมีคำกลอนตอนหนึ่งว่า เหลียวเห็นเกาะสีชังนั่งพินิจ เฉลียวคิดถึงนุชที่สุดหวัง ให้นึกกลัวน้องหญิงจะชิงชัง ถ้าเป็นดังชื่อเกาะแล้วเคราะห์กรรม
หลังจากนั้นมาได้มีการใช้คำว่า สีชัง แพร่ลายขึ้นและคงจะไม่มีการเลื่อนไปเรียกเป็นอย่างอื่นอีกต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการจดบันทึกชื่อของสถานที่แห่งนี้ลงในทำเนียบของทางราชการไปแล้ว