ประเพณีรับขวัญข้าว หรือ ประเพณีรับขวัญแม่พระ โพสพจากกลางนามาประทับในยุ้งข้าว เมื่อ ทำพิธีนี้
แสดงว่า ฤดูทำนาได้สิ้นสุดลง ช่วงเวลาที่ทำพิธีมี 2 วัน คือ วันศุกร์ข้าวลาน หมายถึง ประเพณีรับขวัญแม่พระ โพสพเมล็ดข้าวที่ตกอยู่ตามลานไปไว้ที่ยุ้งวันจันทร์ข้าวยุ้ง คือ การอัญเชิญแม่โพสพ (ข้าว) จากลานไปไว้ในยุ้ง
อุปกรณ์ในการประกอบพิธีรับขวัญข้าวขึ้นยุ้ง มีดังนี้
๑. กระบุง ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒ นิ้ว
๒. ขอฉาย (ไม้ไผ่มีลักษณะเป็นขอ)
๓. ผ้าขาวม้า
๔. ด้ายแดง ด้ายขาว
๕. บายศรีปากชาม ปลายบายศรีใช้ดอกกระถินที่กำลังบานเสียบ
๖. เผือก ๑ หัว มันเทศ ๑ หัว (ต้มสุก)
๗. ยาสูบ ๑ มวน
๘. ข้าวปากหม้อ ๑ ปั้น
๙. ไข่ไก่ต้มสุก
๑๐. ขนมแดกงา
- ปั้นเป็นรูปเต่า ๑ ตัว
- ปั้นเป็นรูปคันไถ ๑ คัน
- ปั้นเป็นรูปคาด ๑ อัน
- ปั้นเป็นรูปหัวนิ้วมือ ๓ อัน
- ปั้นเป็นรูปแบนกลม ๓ อัน
๑๑. ยำ (มะเขือ มะนาว น้ำปลา น้ำตาล ปลาย่าง ปรุงรส)
๑๒. กระบอกไม้ไผ่ (สำหรับใส่น้ำ)
๑๓. เทียน ๑ ดอก ธูป ๓ ดอก
๑๔. ไม้ขีด ๑ กล่อง
การประกอบพิธีทำขวัญข้าว
ผู้ประกอบพิธีจัดเตรียมไว้ใส่ในกระบุง สำหรับเผือก มันเทศ ไข่ต้ม ข้าวปากหม้อปั้นก้อน ขนมแดกงา รูปต่าง ๆ
ยำ ใส่ลงในบายศรีปากชาม นำด้ายแดง ด้ายข้าว นำผ้าขาวม้าพาดบ่าเป็นสะใบ นำขอฉายเกี่ยวกระบุง เดินทางไปทุ่งนา
เมื่อไปถึงนำกระบุงวางลง จุดเทียนธูป ปักไว้ ใช้มือหยิบดินขึ้นมา ๓ ก้อน จากนั้นเอามือขวา กวักเรียกเข้ากระบุง
พร้อมพูด(นึกในใจหรือพูดออกมาก็ได้) มีข้อความดังนี้
"วันนี้ วันดี ศรีวันพญาวัน จะมารับแม่โพสพ แม่โพศรี แม่จุฬามณี แม่ศรีพระคงคา เชิญขึ้นกระเช้าเงิน
กระเช้าทอง มัวไปชมสวนพระอินทร์ พระจินดา เชิญแม่โพสพเสด็จลงมา ขึ้นกระเช้าเงินกระเช้าทอง" เสร็จแล้ว
กูตะโกน ๓ ครั้ง(โก้ว*) ภาษาถิ่นลานกระบือเรียกว่า โก๋
จากนั้น ผู้ประกอบพิธีจะนำขอฉาย เกี่ยวกระบุงแบกกลับบ้าน มาที่ยุ้งฉางของตน ซึ่งเป็นที่เก็บข้าวเปลือก
สำหรับสีเป็นข้าวสารกิน และเก็บไว้เป็นข้าวปลูกในปีต่อไป นำกระบุงขึ้นไปวางแล้วกล่าวเชิญแม่โพสพ มีข้อความ ดังนี้
"เชิญแม่โพสพมาอยู่ยุ้งมุงหญ้า มาอยู่คามุ้งถี่ มาอยู่เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า ข้าวให้ล้นยุ้ง นะปัดตะโยโหตุ" ถือเป็นเสร็จพิธี
หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ต้องเปิดประตูยุ้งไว้ ๓ คืน ๓ วัน จึงจะทำการปิดประตูยุ้งได้ จากนั้นเกษตรกรจะไม่ตักข้าวออกจากยุ้ง จนกว่าจะถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓(ปีไทยโบราณ) มีความเชื่อว่า ทำพิธีแล้วจะทำให้มีข้าวขึ้นยุ้งทุกปีไป และในการตักข้าวออกจากยุ้งวันแรก (เรียกว่าวันแรกตัก) ให้นำช้อนตักข้าวใส่ลงในขันน้ำ ๓ ตัก และกล่าวข้อความ ดังนี้
"ตักไม่ให้รู้บก หกไม่ให้รู้พร่อง ให้ไหลมูลพูนกอง เหมือนศรีธนชัย ปัดตะโยโหตุ" เสร็จแล้ว ให้ตั้งขันข้าวที่ตักไว้ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน หลังจากครบกำหนดให้เทข้าวในขันคืนกลับยังกองข้าว หลังจากนี้ เกษตรกรสามารถนำข้าวในยุ้งฉางไปใช้ได้ ความเชื่อแต่โบราณ ผู้ประกอบพิธีทำขวัญข้าวต้องเป็นผู้หญิงปีเกิดในปีสัตว์ที่ไม่กินข้าวเป็นอาหาร เช่น ปีขาล
ปีมะโรง และปีมะเส็ง เป็นต้น
* (โก้ว) เป็นคำกริยา ภาษาถิ่นเรียกว่า โก๋ หมายถึง การกู่ตะโกนเสียงดังๆ หลังจากกล่าวขอขมา
พระแม่โพสพเสร็จ ผู้นำพิธีก็จะตะโกนเพื่อส่งเสียงให้พระแม่โพสพรับรู้