ครูชฏิล หรือครูป้อม นักดนตรี
เกิดเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2474
จบการศึกษาจากโรงเรียนศรัทธาสมุทร เป็นคนปี่พาทย์ฝี่มือดี เริ่มต้นเรียนดนตรีกับบิดา แล้วติดตามครูศิริ
ผู้พี่ชายไปเป็นศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ได้เรียนทั้งระนาด ฆ้องวง และขับร้อง โดยเฉพาะฝีมือการตีฆ้องวงใหญ่นั้นได้รับการยกย่องโดยทั่วไปว่ามีรสมือดี น้ำหนักมือดีมาก เรียนกระบวนหน้าทับกลอง แขกจากท่านครูจนถึงได้มือบัวลอยครบถ้วน การขับร้องก็ทำได้ดีถึงขนาดที่ท่านครูยกหน้าที่ให้เป็นคนร้องวงปี่พาทย์ต่างๆ เวลาที่มีประชันไหว้ครูบ้านทุกครั้ง และเคยชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงสารถีซึ่งทางกรมศิลปากรจัดขึ้น (พ.ศ. 2489) ชนะเลิศการขับร้องเพลงไทยในงานปิดทอง ฝังลูกนิมิต วัดไตรมิตร พ.ศ. 2500 เพลงสุรินทราหู นอกจากนี้ยังสีซอได้ไพเราะ เนื่องด้วยความสนใจในการบรรเลงซอจึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน), ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และ ครูไฉน เรียนรู้ สามารถบรรเลงได้ดีทั้งซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย
ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีไทยที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์และย้ายมาอยู่วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนใน พ.ศ. 2503 ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน และต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา ท่านสอนอยู่ที่สถาบันแห่งนี้จนกระทั่งเกษียณอายุก็ยังเมตตาปราณีถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์ทุกรุ่นมิเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
ชื่อชฎิลเป็นชื่อที่ท่านตั้งใจจากการไว้ผมที่เป็นลักษณะมุ่นมวยเหมือนฤาษี แต่ก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่ท่านตั้งให้ด้วยคือ“แสงศรี”เพื่อให้คล้องจองกับชื่อพี่ชายคือศิริ
ความรู้ของครูชฎิล นอกจากจะแม่นยำในเชิงปฏิบัติ ยังสามารถอธิบายในด้านทฤษฎีได้อย่างดี เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีไทยเอาไว้พอสมควร และประพันธ์เพลงเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะเพลงเดี่ยว ระนาดเอกกราวใน เดี่ยวซอสามสายบัวลอย (แปลงจากทางปี่ซึ่งได้รับถ่ายทอดจากครูศุขบิดา) เพลงโหมโรงศรีนครินทร์ เพลงโหมโรงเทาทอง เพลงแขกปัตตานีเถา และเพลงระบำชเลรมย์ ให้กับการแสดงของชุมชุนนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าถึงบรรยากาศความสุขชายทะเลบางแสน