ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 18° 1' 43.4867"
18.0287462951986
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 40' 1.535"
103.667093064612
เลขที่ : 140814
ศาลเจ้าปู่อือลือ
เสนอโดย buengkan_admin วันที่ 25 มิถุนายน 2555
อนุมัติโดย mculture วันที่ 30 มีนาคม 2559
จังหวัด : บึงกาฬ
1 2514
รายละเอียด

ศาลปู่อือลือ ตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอบึงโขงหลง โดยมีตำนานเล่าว่า สมัยก่อนบริเวณที่เป็นตัวบึงโขงหลงนั้นไม่ได้เป็นหนองน้ำ แต่เป็นพื้นดินที่ตั้งเมือง ชื่อว่ารัตพานคร มีพระอือลือราชาเป็นผู้ปกครองนคร มีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา และมีธิดาชื่อพระนางเขียวคำ ต่อมาพระนางเขียวคำอภิเษกกับพระเจ้าสามพันตา กำเนิดพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง โดยเจ้าชายฟ้าฮุ่ง เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปร่างชวนหลงใหลต่อผู้พบเห็น ต่อมาเจ้าชายฟ้าฮุ่งอภิเษกกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นธิดาของพระยานาคราชแห่งเมืองบาดาล ซึ่งจำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ การจัดงานอภิเษกสมรสได้จัดทำกันใหญ่โตมโหฬารทั้งเมืองรัตพานครและเมืองบาดาล เพื่อให้สมกับการแต่งงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างพระยานาคกับพระเจ้าอือลือ พระยานาคราชได้มอบเครื่องกุฎภัณฑ์ซึ่งเป็นของมีค่าประจำตระกูลให้กับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย พร้อมกันนี้พระยานาคราชได้ฝากฝังลูกสาวของตน ให้เจ้าเมืองรัตพานครดูแลโดยที่พระเจ้าอือลือ และเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ตลอดจนชาวเมืองรัตพานคร ไม่มีใครรู้ความจริงว่า นาครินทรานีคือนาคแปลงกายเป็นมนุษย์ เพราะโดนมนตราของพระยานาคราช ปิดบังเอาไว้เจ้าชายฟ้าฮุ่งกับเจ้าหญิงนาครินทรานี อยู่กินร่วมกันมา ๓ ปี ก็มีผู้สืบสายโลหิตได้(เพราะธาตุมนุษย์กับนาคเข้ากันไม่ได้) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสองเป็นอันมาก จนเป็นสาเหตุให้เจ้าหญิงนาครินทรานีล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางกลับกลายร่างเป็นนาคตามเดิม ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วกรุงรัตพานคร แม้ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทราจะร่ายมนต์กลับมาเป็นมนุษย์อีก แต่เมื่อทุกคนทราบความจริงว่านาครินทรานีเป็นนาค ชาวเมืองรัตพานครและพระเจ้าอือลือราชาไม่พอใจอย่างมาก จึงได้แจ้งให้พระยานาคราชมารับลูกสาว พร้อมขับไล่ไสส่งนางนาครินทรานีกลับคืนสู่เมืองบาดาล โดยไม่ใยดี แม้กระทั้งการจะไปส่งด้วยน้ำใจก็ไม่มี ไม่เหมือนกับครั้งที่นางมาในพิธีอภิเษกสมรส พระยานาคราชกริ้วโกรธกับการกระทำของชาวเมืองรัตพานครที่ได้กระทำต่อลูกสาวของตน แต่ด้วยความรักที่มีต่อพระธิดาของตน จึงมารับพระธิดากลับโดยดี แต่ก่อนกลับสู่เมืองบาดาล พระพระยานาคราชได้ขอเครื่องราชกุฎภัณฑ์ที่เป็นเครื่องประดับยศ และสมบัติที่มอบให้พระธิดา เมื่อครั้งแต่งงานคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนได้ โดยอ้างว่าตนนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่นแล้ว ทำให้พระยานาคราชกริ้วโกรธมากขึ้นกว่าเดิม เพราะธิดาของตนถูกขับไสไล่ส่งก็เจ็บใจมากพอแล้ว ยังขอรับเครื่องราชกุฎภัณฑ์ของตนกลับเมืองบาดาลไม่ได้ พระยานาคราชแห่งบาดาลจึงได้ประกาศว่าจะกลับมาพร้อมกับไพร่พลแห่งเมืองบาดาล เพื่อถล่มเมืองรัตพานครให้สิ้นสภาพความเป็นเมือง หลังจากพระยานาคราชกลับเมืองบาดาล ตกในคืนวันเดียวกันนั้นไพร่พลของพระยานาคราช ได้ยกมาถล่มเมืองรัตพานครจนราบคาบเป็นหน้ากลอง ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์ของนาคได้ จนพื้นดินที่เคยเป็นเมืองรัตพานครในอดีต ถล่มจมหายกลายเป็นหนองน้ำเวิ้งว้างกว้างใหญ่ ชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนางนาครินทรานีไม่ทราบว่าพระบิดาจะมาถล่มเมืองรัตพานคร เพราะพระยานาคราชปิดบังเอาไว้ไม่อยากให้ลูกสาวของตนรู้ แต่นางนาครินทราก็ทราบเรื่องราวทั้งหมดจนได้ และพอทราบก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง นางออกตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่งทั่วบึงของหลง ถึงแม่น้ำสงครามแต่ก็ไม่พบ จึงได้กลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครถูกถล่มจนกลายเป็น “บึงหลงของ” เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะพระอือลือราชาได้ปิดบังลุ่มหลงเอาสมบัติทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน และเวลาต่อมาได้เพี้ยนกลายเป็น “บึงโขงหลง” ในปัจจุบันจากพื้นดินอันเป็นที่ตั้งของรัตพานคร กลายเป็นเวิ้งน้ำ แต่ในช่วงที่ไพร่พลพญานาคเข้าทำลายเมืองนั้นยังมีวัดที่ตั้งอยู่ในรัตพานคร ที่พระยานาคราชและไพร่พลไม่ทำลาย เหลือไว้เป็นที่สักการะของผู้คนที่จะมาพบเห็นในกาลต่อไป ซึ่งในกาลต่อมาวัดเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง กลายเป็นเกาะและป่าขนาดเล็กที่มิได้จม หรือถูกทำลายให้กลายเป็นพื้นน้ำ วัดเหล่านั้นจึงปรากฏเป็นชื่อดอน หรือเกาะต่างๆ ในบึงโขงหลงในปัจจุบัน ดังนี้ วัดแก้วฟ้า หรือวัดดอนแก้ว ปรากฏเป็นดอนแก้วในปัจจุบัน วัดโพธิ์สัตว์หรือวัดดอนโพธิ์ มาเป็นดอนโพธิ์ และวัดแดนสวรรค์ กลายเป็นดอนสวรรค์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลงและสถานที่ที่มีชื่อปรากฏตามตำนานในปัจจุบันคือ เส้นทางที่นางนาครินทรานีเดินทางตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง จากบึงโขงหลงไปยังแม่น้ำสงคราม เส้นทางดังกล่าว กลายเป็นแม่น้ำเมาที่เชื่อมต่อบึงโขงหลง และแม่น้ำสงคราม ส่วนคำว่าน้ำเมา หรือห้วยน้ำเมานั้น เป็นเพราะเกิดจากความลุ่มหลงในรักของพระธิดาของพระยานาคที่มีต่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ซึ่งตกอยู่ในอาการที่เรียกว่ามัวเมาในความรัก จึงเป็นเส้นทางแม่น้ำที่เรียกว่าน้ำเมา อย่างไรก็ตาม ตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาคเฝ้าอยู่ในบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้ ปัจจุบันเมืองที่เกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้คือ จังหวัดบึงกาฬที่แยกจากจังหวัดหนองคาย จึงมีความเชื่อว่คำสาปของพระยานาคราชสิ้นสลายไปจากดินแดนแห่งนี้แล้ว ทั้งนี้ชาวอำเภอบึงโขงหลงได้สร้างศาลปู่อือลือเพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวอำเภอบึงโขงหลง และประชาชนทั่วไป

สถานที่ตั้ง
ศาลปู่อือลือ
ตำบล ตำบลบึงโขงหลง อำเภอ บึงโขงหลง จังหวัด บึงกาฬ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ
บุคคลอ้างอิง สมยศ งามชมภู อีเมล์ somyot_ng@hotmail.co.th
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ
ตำบล บึงกาฬ อำเภอ เมืองบึงกาฬ จังหวัด บึงกาฬ
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่