ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 11' 58.8512"
14.1996809
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 7' 43.4507"
100.1287363
เลขที่ : 14163
แจ้ง คล้ายสีทอง
เสนอโดย ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ วันที่ 9 มกราคม 2554
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 16 มกราคม 2556
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 1022
รายละเอียด

นายแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2478 ณ ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายหวัน คล้ายสีทอง มารดาชื่อ นางเพี้ยน คล้ายสีทอง เป็นลูกชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 4 คน ตระนี้นับเป็นตระกูลศิลปินตระกูลหนึ่งในตำบล โดยคุณตาเป็นนักสวดโบราณ บิดาเป็นนักแสดงโขน นักพากษ์โขน และเป็นตลกโขน สังกัดคณะโขนวัดดอนกลาง มารดาเป็นนักร้องที่มีเสียงดีมาก นายแจ้ง คล้ายสีทอง จึงมีสายเลือดศิลปินอยู่เต็มตัว และได้แสดงออกมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย เมื่อเติบใหญ่จนถึงวัยศึกษาเล่าเรียน บิดาได้ส่งไปเป็นลูกศิษย์คุณตาที่วัดโบสถ์ดอนลำแพน และเรียนหนังสือจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ของโรงเรียนในขณะนั้น เมื่อบิดาถึงแก่กรรม มารดาได้กลับมาอยู่ที่บ้านเดิม ต่อมาเมื่ออายุ 11 ปี นายแคล้ว คล้ายจินดา ครูดนตรีไทยอาวุโสผู้หนึ่ง ได้มาติดต่อกับมารดาเพื่อจะขอรับนายแจ้ง คล้ายสีทอง ไปเป็นลูกศิษย์เพราะเห็นว่ามีพรสวรรค์ด้านดนตรีไทย โดยได้ย้าย ไปอยู่ที่บ้านนายแคล้ว คล้ายจินดา เพื่อจะได้มีเวลาเรียนดนตรีอย่างเต็มที่ เริ่มแรกได้ฝึกเรียนฆ้องวง ต่อมาได้ฝึกเรียนเครื่องดนตรีอื่นๆ จนสามารถบรรเลงได้ทุกชนิด และเรียนการ ขับร้องจากนายเฉลิม คล้ายจินดา บุตรชายของนายแคล้ว คล้ายจินดา เมื่อออกงานบรรเลง ลีลาและน้ำเสียงของ นายแจ้ง คล้ายสีทอง เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังเป็นอย่างมาก ได้ฝึกหัดดนตรีและขับร้องกับนายแคล้ว คล้ายจินดา จนอายุได้ 14 ปี มารดาก็ตามกลับบ้าน อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังติดต่อและร่วมงานกับนายแคล้ว อยู่เป็นประจำ เมื่อนายแจ้งอายุได้ 17 ปี ได้ติดตามนายสนิท โพธิ์หิรัญ เข้าทำงานที่กรุงเทพฯ นายสนิทได้ฝากเข้าทำงานที่กองยกกระบัตรสะพานแดง บางซื่อ ซึ่งการทำงานครั้งนั้นต้อง งดรับงานร้องเพลงและงานบรรเลงดนตรีทั้งหมด อายุครบ 21 ปี นายแจ้ง คล้ายสีทอง เข้ารับการเกณฑ์ทหารและเข้าประจำการหน่วยเสนารักษ์ ในระยะนั้นเมื่อมีเวลาว่างหรือได้ลาพักผ่อน ก็มักติดตามนายสืบสุด ดุริยะประณีต ไปในงานบรรเลงปี่พาทย์ของวงดุริยะประณีต หรือวงบ้านบางลำพู เป็นประจำ เมื่อผู้บรรเลงเครื่อง ดนตรีบางชิ้นว่างลงหรือไม่มา นายแจ้ง คล้ายสีทอง จะบรรเลงแทน และสามารถบรรเลงได้ดีทุกๆหน้าที่ ตั้งแต่การบรรเลงเครื่องดนตรี ประกอบจังหวะจนถึงระนาดเอก และระนาดทุ้ม ในการบรรเลงแต่ละครั้งได้รับเงินค่าจ้างประมาณ 40-50 บาท เมื่อปลดประจำการเป็น ทหารกองหนุนแล้ว นายสืบสุด ดุริยะประณีต ได้ชักชวนให้เข้าเป็นนักดนตรีวงดุริยะประณีต สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนการแสดงลิเกให้แพร่หลายโดยเรียกชื่อใหม่ว่า "นาฏดนตรี" มีการแสดงลิเก ส่งกระจายเสียงตามสถานีวิทยุต่างๆ จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง คณะลิเกหลายคณะใช้วงปี่พาทย์บ้านบางลำพูในการบรรเลง เมื่องานบรรเลงตาม สถานีวิทยุมากขึ้น ประกอบกับการมีฝีมือด้านดนตรี นายแจ้ง คล้ายสีทอง ได้เลื่อนฐานะเป็นนายวง โดยเป็นคนตีระนาดเอกประจำ สถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดน และเมื่อคณะลิเกขาดคนแสดงบทใดบทหนึ่งก็จะติดต่อให้ช่วยแสดงแทน ซึ่งแสดงได้ดีทุกบทบาทของตัวละคร จนบางคณะติดต่อให้แสดงเป็นพระเอก นายแจ้ง คล้ายสีทอง จะใช้ชื่อในการแสดงทุกครั้งว่า "อรุณ คล้ายสีทอง" ครั้งหนึ่งวงดนตรีบ้านบางลำพูมีงานบรรเลง ณ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรม มีนายสุพจน์ โตสง่า เป็นผู้บรรเลงระนาดเอก ในการร้องบรรเลงการสวมรับ และการส่งร้องเพลงบุหลันเถา เฉพาะในตอน 2 ชั้น และชั้นเดียว ปรากฏว่าผู้ร้องไม่มา นายแจ้ง คล้ายสีทอง จึงได้ร้องเพลงแทน มีศิลปินผู้ใหญ่หลายท่านนั่งฟังอยู่ด้วย และได้กล่าวชมน้ำเสียงขับร้องว่าเหมาะสม แต่ควรปรับปรุงวิธีการรร้องและ ลีลาการร้อง บางช่วง นายแจ้ง คล้ายสีทอง จึงเข้าฝึกหัดและเรียนวิชาการขับร้องกับนางสุดา เขียววิจิตร เนื่องจากมีพรสวรรค์ทางด้านเสียงอยู่แล้ว เมื่อได้รับการ ฝึกหัดอย่างถูกวิธี ก็ฝึกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขับร้องได้ดีมากขึ้น พ.ศ. 2508 สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. จัดให้มีการประกวดขับร้องเพลงไทยและการบรรเลงเครื่องสาย นายแจ้ง คล้ายสีทอง ได้สมัครเข้าแข่งขัน ในครั้งนี้ด้วย โดยใช้ชื่อสมัครว่า "นายอภัย คล้ายสีทอง" และได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องฝ่ายชาย พ.ศ. 2508 เข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา หรือตำแหน่งขับร้องเพลงไทย แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร การทำงานในระยะแรก นายแจ้งต้องปรับปรุงการร้องเพลงใหม่ เพราะจะต้องร้องให้เข้ากับบทบาทตัวละครที่กำลังแสดง ด้วยความอุตสาหะและ เอาใจใส่ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยัง พยายามฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยการฝึกหัดร้องเพลงและศึกษาการขับร้องของ ครูดนตรีรุ่นเก่า ที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นแนวทางการ ขับร้องให้ดียิ่งขึ้น การขับและขยับกรับเสภา นายแจ้งสามารถขับร้องได้อย่างไพเราะพร้อมการขยับกรับ นายโชติ ดุริยะประณีต เป็นผู้ฝึกหัดให้ เริ่มตั้งแต่วิธี จับไม้กรับเสภา ซึ่งมีอยู่ 4 อัน หรือ 2 คู่ โดยถือไว้ในมือด้านละ 1 คู่ เริ่มขยับเสียงสั้นไปหาเสียงยาวคือเสียงกรด เสียงสั้นคือเสียงก๊อก แก๊บ ขับจนคล่องดีแล้วจึงตีเสียงกร้อ แกร้ (เสียงกรอ) ต่อจากนั้นตีไม้สกัดสั้น ได้แก่เสียงแกร้ แก๊บ และไม้สกัดยาวคือเสียงกร้อ แกร้ กร้อ แกร้ แก๊บ ใช้สำหรับตอนหมดช่วงของการขับเสภา และในระหว่างขับ ส่วนไม้กรอใช้สำหรับ ขับครวญเสียงโหยไห้และใกล้หมดช่วงของขับเสภา ฝึกจนสามารถ ขับและขยับกรับเสภาได้ โดยขับในละครเรื่อง ไกรทอง แต่ยังไม่ทันได้ต่อไม้เสภาอื่นๆต่อไป นายโชติ ดุริยะประณีต ก็ถึงแก่กรรม นายแจ้ง คล้ายสีทอง ได้มีโอกาสไปสาธิตการขับ และขยับกรับเสภาของอาจารย์มนตรี ตราโมท อยู่เสมอ ท่านได้กรุณาบอกไม้เสภาที่ยังไม่ได้ให้ ได้แก่ ไม้รบ ใช้สำหรับบทดุดันหรือการต่อสู้ และไม้สอง ใช้สำหรับชมธรรมชาติหรือดำเนินทำนองเพลง 2 ชั้น และบทดำเนินเรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับความ กรุณาจากนางท้วม ประสิทธิกุล และนายประเวศ กุมุท แนะวิธีปลีกย่อยให้นายแจ้ง จนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและได้รับคำชมไปทั่ว บุคคลที่นายแจ้ง คล้ายสีทอง ให้ความเคารพนับถืออีกท่านหนึ่ง คือนายเสรี หวังในธรรม ผู้ให้การสนับสนุนแนะนำวิธีการร้องต่างๆแก่นายแจ้งตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง ในงานพิธีไหว้ครูประจำปีของแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (พระองค์ชายกลาง) องค์อุปถัมภ์ศิลปิน ได้เสด็จมาในงานพร้อมด้วยนายเจือ ขันธมาลา ผู้มีความสามารถในการขับร้องและขยับกรับเสภา นายเจือเป็นหลานและศิษย์ของ ท่านครูหมื่นขับคำหวาน และพระองค์ชายกลาง ได้มีพระเมตตาฝากฝังนายแจ้งให้เรียนเสภากับนายเจือ นายแจ้งจึงได้ วิธีการขับเสภาไหว้ครู รวมทั้งเกร็ดย่อยอื่นๆเพิ่มขึ้น ในที่สุดจึงเป็น นายแจ้ง คล้ายสีทอง ของคนฟังเพลงไทย และคนฟังเสภาทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม" นายแจ้ง คล้ายสีทอง ได้ขับร้องเพลงถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ตำหนักเรือนต้นและที่อื่นๆ เนื่องในงาน พระราชทานเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์เสมอๆ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นายแจ้ง ร้องเพลงที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ อันได้แก่ เพลงลาวครวญ ลาวดวงเดือน ลาวคำหอม เป็นต้น และมีพระราชกระแสรับสั่งชมเชยว่าร้องเพราะเสียงดี ยังมีความปลาบปลื้มแก่นายแจ้งเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวขับไม้ประกอบ ซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวาง สมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2520 และได้รับพระราชทานเหรียญ รัตนาภรณ์ในงานพระราชพิธีขึ้นระวาง และสมโภชน์ช้างสำคัญ 3 เชือกที่จังหวัดเพชรบุรี ปี พ.ศ. 2521 นับว่าเป็นผู้ขับร้องเพลงไทย คนสำคัญอีกคนหนึ่งของประเทศไทย จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายแจ้ง คล้ายสีทอง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538

หมวดหมู่
ศิลปิน
สถานที่ตั้ง
บ้านครูแจ้ง
หมู่ที่/หมู่บ้าน บางตาเถร
ตำบล บางตาเถร อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
บุคคลอ้างอิง ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ อีเมล์ panloa1@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี อีเมล์ suphanburi@m-culture.go.th
ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 035-536058 โทรสาร 035-536045
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/suphanburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่