เนื่องจากบ้านใต้มีหนองน้ำอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีแสงไฟ แสงใต้(ขี้ใต้) สำหรับให้แสงสว่าง อยู่ระหว่างกลางหมู่บ้าน และในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ขี้ใต้เป็นเชื้อเพลิงจุดเพื่อให้แสงสว่างและขี้ใต้มีจำนวนเยอะมาก เกาะอยู่ตามต้นไม้และหาได้ง่าย จึงใช้ขี้ใต้เป็นสัญลักษณ์ในการตั้งชื่อหมู่บ้าน คือ บ้านใต้ ตราบจนถึงปัจจุบันนี้
วิถีชีวิต ชาวบ้านใต้มีอาชีพหลัก คือ ทำนา อาชีพเสริม คือ เลี้ยงวัว วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คนส่วนใหญ่เป็นคนโคราชดั้งเดิม สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่แต่งกายนุ่งโจงกระเบน ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาไทยโคราช และภาษาอีสาน (ลาว) มีบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีลูกเขย –ลูกสะใภ้ มาจากต่างถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจักสาน เช่น สานหมวง (ตะข้อง) ไซ สุ่มไก่ แห , การทอเสื่อ (กก, ผือ) ไว้ใช้เองในครอบครัวและจำหน่ายเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว
ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี การเลี้ยงปู่ตา ในช่วงเดือน ๖ (พฤษภาคม) มีการตักบาตรในตอนเช้า
ตอนสายจะมีการไปเลี้ยงปู่ตาที่ลำห้วยในหมู่บ้านมีการก่อเจดีย์ทราย ปั้นทรายเป็นรูปเต่า รูปจระเข้ แล้วจะมีการเสี่ยงทายโดยพ่อเฒ่าจ้ำ ดูจากคางของไก่หากคางไก่ตรงไปทางเดียวกัน แสดงว่าฝนฟ้าจะดี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ถ้าคางไก่ไม่ตรง คดหรืองอไปทางอื่น แสดงว่า จะแห้งแล้ง ฟ้าฝนไม่ดี และชาวบ้านจะไม่รักกัน มีความเดือดร้อนภายในหมู่บ้าน