การทอผ้ากะเหรี่ยงพื้นบ้าน บ้านป่าไร่เหนือ เป็นการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยง อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศในชุมชนนั้นมีบริเวณพื้นที่เป็นเชิงเขา ไหล่เขา และการคมนาคมไม่สะดวก จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องทอผ้าเพื่อใช้สวมใส่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว และในงานพิธีกรรมต่าง ๆ กระบวนการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในการนำมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และลักษณะการแต่งกายของชนเผ่า ซึ่งเรียกว่าการทอผ้า สำหรับการทอผ้าของชนเผ่ากะเหรี่ยงนั้น นิยมใช้เครื่องทอผ้าแบบคาดหลัง “กี่เอว” เนื่องจากเป็นเครื่องทอผ้าที่มีความสะดวกในการใช้สอย เครื่องทอผ้าแบบกี่เอวนี้ เป็นเครื่องทอผ้าที่ใช้ได้ง่าย ไม่เปลืองพื้นที่ สามารถเคลื่อนย้ายได้ในการใช้แต่ละครั้ง สามารถเรียนรู้และฝึกทอได้ง่าย
ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโดยเฉพาะสตรีผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทอผ้า คือจะเริ่มสอนให้กับเด็กผู้หญิงอายุ ๗ – ๑๐ ปี ที่มีความสนใจในเรื่องของการทอผ้า สำหรับลวดลายที่ทอนั้นส่วนใหญ่จะนิยมทอลวดลายเบื้องต้น และมีการทอลวดลาย เอกลักษณ์ของลวดลายที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือ นิยมทอเป็นลวดลายที่คิดค้นเองตามจินตนาการที่เกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติในชุมชน การสร้างลวดลายของผู้ทอแต่ละคนที่นำรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มความสวยงามให้กับผ้าทอมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงก็ยังคงรักษารูปแบบ วิธีการทอโดยการใช้อุปกรณ์ที่ได้จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอกะเหรี่ยงมากยิ่งขึ้น
กลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) บ้านป่าไร่เหนือ เป็นกลุ่มสตรีทอผ้าที่สืบทอดภูมิปัญญา ของบรรพบุรุษ ซึ่งทำกันเกือบทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน โดยมีการก่อตั้งแบบไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ แต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน มีอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริม จำนวน ๓๒ คน ดำเนินการของบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมจากส่วนราชการ โดยปราศจากองค์ประกอบของกลุ่มที่ถูกต้องเป็นการรวมตัวที่ต่างคนต่างผลิต จำหน่ายด้วยตนเอง โดยมีนางหล้า ฐานะ เป็นประธาน
การทอผ้าเป็นอาชีพเสริมของชุมชนบ้านป่าไร่เหนือ ที่สามารถสร้างรายได้หลังจากทำการเกษตร ซึ่งช่วงเวลาการผลิตของกลุ่มสามารถผลิตได้ทุกเดือน ยกเว้นในช่วงเดือนมีนาคม, พฤษภาคม จนถึงกลางเดือน มิถุนายน และช่วงกลางเดือนสิงหาคม ถึงปลายเดือนกันยายน ที่มีการผลิตน้อยกว่าปกติ เนื่องจากช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่สมาชิกจะทำการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือข้าวไร่ ข้าวนาปี และข้าวโพด สมาชิกที่ทำการผลิตจากเดิมจำนวน ๓๕ คน จึงลดเหลือเพียงจำนวน ๑๐ คน
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กี่เอวในการทอ ความกว้างของหน้าผ้าทอที่ได้ประมาณความกว้างของช่วงเอวหรือช่วงลำตัวของผู้ทอ เมื่อต้องการทำให้เป็นผ้าทอที่มีขนาดความกว้างมากกว่านั้น จะนำผ้าที่ทอแต่ละชิ้นมาเย็บต่อกัน จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดหน้ากว้างของผ้าที่กว้างขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสามารถจำแนกออกได้ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผ้าทอเป็นผืนไม่แปรรูป เช่น ผ้าห่ม ผ้าพันคอ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ อีกประเภทของกลุ่มฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าทอ เช่น เสื้อ ย่าม กระเป๋า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม
ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือ มีลักษณะคล้ายกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งยังคงยึดถือวัฒนธรรมการทอผ้า จนถือได้ว่าการทอผ้ากับชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นของคู่กัน ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างในเรื่องของการแต่งกาย แต่ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้า โดยใช้เครื่องทอผ้าแบบเข็มขัดคาดอยู่ด้านหลัง การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างลวดลายการทอที่เหมือนกัน การทอผ้าจะเป็นงานของสตรี ทั้งผู้สูงอายุและเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ยังคงให้ความสนใจ สำหรับการทอผ้าในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือนั้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน เข้ามาให้การสนับสนุนในเรื่องการทอผ้า การพัฒนาระบบการปลูกฝ้าย โดยมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน จึงทำให้สตรีชาวกะเหรี่ยงมีงานทำหลังจากการทำไร่ เนื่องจากการทอผ้าต้องใช้ระยะเวลาในการทอที่ยาวนาน และยังต้องใช้ความชำนาญ ตลอดจนการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาลวดลายผ้า ประสบการณ์ในการแกะลาย หรือคัดลอกลายจากการศึกษาดูงานภายนอกอีกด้วย
จากการศึกษาโดยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนกล่าวว่า ชุมชนกะเหรี่ยงโดยเฉพาะสตรีผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทอผ้า คือจะเริ่มสอนให้กับเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุประมาณ ๗ – ๑๐ ปี ที่มีความสนใจในเรื่องการทอผ้า โดยจะเริ่มสอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากการสังเกต และได้ฝึกหัดทอผ้า เด็กที่เริ่มทอผ้าจะเริ่มทอย่ามใส่ของก่อน ซึ่งเป็นการทอที่ง่ายและใช้เวลาไม่นานมาก สำหรับลวดลายที่ทอนั้น ส่วนใหญ่จะนิยมทอลวดลายเบื้องต้น และมีการทอลวดลายลงไปตามความเหมาะสมและการนำไปใช้ สำหรับเอกลักษณ์ของลวดลายที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือนั้น เป็นลวดลายที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าและธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่จึงผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ และแสดงออกมาเป็นลวดลายที่ทอบนผืนผ้า เช่น ลายที่เกิดจากพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ต่างๆ โดยนำมาสร้างสรรค์ดัดแปลง ให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าให้สวยงาม โดยแบ่งได้ ๓ ลาย ดังนี้
๑) ลายที่เกิดจากการทอจกหรือยกดอก แบ่งออกเป็น
๑.๑ ลายที่เลียนแบบจาก พืช ผัก ผลไม้ ได้แก่
- ลายเมล็ดฟัก มีลักษณะเป็นรูปรีๆ คล้ายเมล็ดฟักทอง
- ลายต้นไม้ มีลักษณะคล้ายต้นไม้
- ลายดอกทานตะวัน มีลักษณะคล้ายดอกทานตะวัน
๑.๒ ลายที่เลียนแบบจากสัตว์ ได้แก่
- ลายแมงมุม มีลักษณะคล้าย การชักใยของแมลงมุม
- ลายผีเสื้อ มีลักษณะเหมือนผีเสื้อที่บินทั่วไปอยู่ในป่า
- ลายปากลูกอ๊อด มีลักษณะคล้ายปากลูกอ๊อด
- ลายเกล็ดเต่า มีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายเกร็ดเต่า
- ลายปีกนก มีลักษณะเป็นปีกนกกำลังบิน
๑.๓ ลายอื่นๆ ที่เกิดจากการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว หรือ การผสมผสานระหว่างลายทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ รวมทั้งรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งประกอบด้วย
- ลายขอบตา มีลักษณะเป็นวงๆ คล้ายขอบตาขาวของคน
- ลายตะกร้า มีลักษณะเป็นตาสี่เหลี่ยม คล้ายลายสานเป็นตะกร้า
- ลายซิกแซก มีลักษณะคล้ายลายขอบตาที่ทอต่อๆ กัน
- ลายตาตะกร้าผสมกับลายเมล็ดฟัก
- ลายขอบตามีลายเมล็ดฟักอยู่ตรงกลางลายผีเสื้อสองตัวหันเข้าหากัน
๒) ลายมัดหมี่หรือลายตาคาด ด้ายที่อ้อมด้วยวิธีนี้สามารถนำไปทอเป็นด้ายยืน ลักษณะลายจะปรากฏคล้ายสายน้ำไหลบนตัวผ้าซิ่นของผู้หญิงหรือโสร่งของผู้ชาย
การทักทอลวดลายบนผืนฝ้า เป็นการคิดค้นเองตามจินตนาการที่เกิดจาการเลียนแบบธรรมชาติในชุมชน การสร้างลวดลายของผู้ทอแต่ละคนได้รูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับ ผ้าทอมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงยังคงรักษารูปแบบวิธีการทอ โดยการใช้อุปกรณ์ที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทอที่ทำจากไม้ เส้นใจที่ได้มาจากฝ้ายที่ปลูกไว้ใช้เอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอกะเหรี่ยงมากยิ่งขึ้น
มานพ ชื่นภักดิ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ