พระพุทธนวราชบพิตรได้รับพระราชทานเมื่อ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ที่ประดิษฐาน ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ชั้น ๕ รายละเอียดอื่น ๆ (ถ้ามี)พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ-พลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๙.๙ นิ้ว ทั้งนี้ด้วยพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุด ทั้งเป็นนิมิตหมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทยและของคนไทยทั้งชาติ แทนการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ดังที่เคยมีมาตั้งแต่รัชกาลก่อนฯ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้พระราชทาน พระพุทธนวราชบพิตร ให้กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ในปริมณฑลแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ให้จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดย นายธวัช โพธิสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (ขณะนั้น) ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทาน ปัจจุบันพระพุทธนวราชบพิตร ประดิษฐานอยู่บนศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ
สำนักพระราชวัง ได้วางระเบียบเกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้
๑. เมื่อจังหวัดใด ได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรไปแล้ว ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันสมควรในศาลากลางจังหวัด
๒. เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใด ๆ ซึ่งต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัย ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร มาประดิษฐานเป็นพระพุทธบูชาในพิธีนั้น ๆ ทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์วิหารหรือปูชนียสถานใดๆ ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ เช่น พระพุทธคันธารราษฎร์
๓. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดใด เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีหรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้น ๆ ทุกครั้ง หากพระราชพิธีหรือพิธีนั้นกระทำในพระอารามหรือปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บูชาเป็นต่างหากอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ
๔. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดใด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร ไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งทางจังหวัดจัดไว้ ในกรณีนี้หากท้องที่ที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นการรีบด่วน หรือเป็นเพียงการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณางดเสียก็ได้ตามแต่จะเห็นควร
๕. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัดใด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชาในพลับพลาหรือในที่ประทับตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางจังหวัด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ในการนี้ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำรัชกาล
๖. หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนนมัสการในเทศกาลใด ๆ ก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นควร อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้นอาจทำให้พระพุทธรูปเสียความงามไปบ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตรบนฐาน ซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทองได้อีกชั้นหนึ่ง ให้ประชาชนปิดทองได้ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่ง