ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 7' 11.892"
17.11997
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 38' 25.8"
101.6405
เลขที่ : 168299
ตำนานพญาช้าง นางผมหอม
เสนอโดย MoCSpecial วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : เลย
2 5876
รายละเอียด

ตำนานพญาช้าง นางผมหอม

ตำนานนี้ได้เค้าโครงมาจากนิทานชาดก มีคนเฒ่าคนแก่เล่าขานกันในท้องถิ่นอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันประกอบกับมีหลักฐาน ซึ่งสันนิษฐานว่าตำนานพญาช้าง-นางผมหอม เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้จริง ดังนี้

ในตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีหญิงสาวคนหนึ่งหน้าตาสวยงามเป็นที่เลื่องลือในละแวกนี้ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับภูหอ มาวันหนึ่งนางไปเที่ยวป่าบริเวณภูหอกับเพื่อนหลายคน นางได้เพลิดเพลินกับการเที่ยวป่าจนเกิดหลงป่า และรู้สึกเมื่อยล้าอ่อนแรงหิวน้ำ นางก็เลยได้ไปดื่มน้ำรอยเท้าช้างซึ่งมีน้ำปัสสาวะของช้างอยู่ด้วย ต่อมานางได้ตั้งท้องคนคลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิงสวยงามมาก และที่สำคัญผมของเธอจะมีกลิ่นหอม จึงตั้งชื่อว่านางผมหอม ต่อมานางได้ออกไปเที่ยวป่าอีก ก็เกิดพลัดหลงป่าอีก และได้กินน้ำในรอยเท้าของวัวป่า เกิดตั้งท้องขึ้นอีกและคลอดลูกออกมาเป็นคนที่สอง ตั้งชื่อว่า นางลุน (ภาษาท้องถิ่นว่า ทีหลัง) วันเดือนปีผ่านไปหลายปี นางผมหอมและนางลุนเติบโตเป็นสาว นางทั้งสองอยากออกไปเที่ยวป่า อยากพบพ่อ ซึ่งเข้าใจว่าอาศัยอยู่ในป่าภูหอแห่งนั้น ก่อนไปนางผมหอมได้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนหลับนอนว่า หากตนเป็นลูกสาวของพญาช้างจริง ก็ขอให้นิมิตเห็นพญาช้าง ในคืนนั้นนางผมหอม ก็ได้นิมิตเห็นพญาช้างดังที่ได้อธิษฐานจิต เช้าตื่นมาได้เล่าให้แม่ฟัง และอยากไปเที่ยวพา จึงขออนุญาตแม่ ทั้งสองก็เดินทางไปเที่ยวป่าหาพ่อ ได้พบพญาช้างผู้เป็นพ่อจริง รูปร่างใหญ่โต งายาว พญาช้างเห็นก็วิ่งเข้าใส่นางทั้งสอง นางทั้งสองกลัวจึงยกมือไหว้ขอชีวิตและได้เล่าเรื่องให้พญาช้างฟัง พญาช้างได้ฟังก็ใจอ่อน และเกิดสงสัยว่าเป็นลูกของตนจริงหรือไม่ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้านางทั้งสองเป็นลูกของตนจริงก็ขอให้ปีนขึ้นเหยียบงาของตนและได้ขึ้นบนหลังได้ นางทั้งสองก็ยกมือไหว้พญาช้าง แล้วทำการปีนป่ายขึ้นหลังพญาช้าง ปรากฏว่านางผมหอมปีนขึ้นได้ ส่วนนางลุนปีนขึ้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นลูกวัวป่า เมื่อรู้ว่านางลุนไม่ใช่ลูกของตนก็รู้สึกโกรธ และยกเท้าขึ้นกระทืบนางลุนตาย นางผมหอมร้องขอก็ไม่ทันการ ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจมาก พญาช้างปลอบประโลมนางอยู่ตั้งนานและขอให้ขึ้นไปอยู่กับตนในป่าภูหอ ในที่สุดนางผมหอมก็ยอมไป พญาช้างพานางขึ้นไปบนภูหอ แล้วเกณฑ์บรรดาช้างบริวารมาช่วยกันทำปราสาทให้กับนางผมหอมอย่างสวยงามและเลี้ยงดูนางอย่างดี

วันเวลาล่วงมาหลายปี นางผมหอมเติบโตเป็นสาวอย่างเต็มตัว นางผมหอมชอบลงไปอาบน้ำในหนองบัว (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย) และลำธารปากห้วยหอม (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านห้วยหอม ต.หนองคัน อ.ภูหลวง จ.เลย) วันหนึ่งในขณะอาบน้ำ นางได้รำลึกถึงความรักตามประสาคนหนุ่มสาว นางจึงเอาเส้นผมสามเส้นใส่ในผอบทองพร้อมเขียนสารรักลอยน้ำไปตามแม่น้ำเลย (ต้นกำเนิดแม่น้ำเลยอยู่ในพื้นที่ อำเภอภูหลวง)

กล่าวถึงหนุ่มรูปงาม นามว่า ท้าว วรจิตร เป็นลูกชายของเจ้าฟ้าฮ่มขาว เมืองเซไล (ปัจจุบัน บ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย) ลงไปอาบน้ำพร้อมข้าทาสบริวาร ที่ท่าน้ำแม่น้ำเลย ในขณะอาบน้ำมองเห็นผอบทองลอยน้ำวนไปวนมา ท้าววรจิตรก็เอาผอบทองมาเปิดดูเส้นผมพร้อมสารรักของนางผมหอม เมื่ออ่านดูแล้วทำให้จิตใจหวั่นไหว และคิดถึงเจ้าของสารรักยิ่งนัก จากนั้นก็ได้เขียนสารรักตอบลงในผอบทอง ก่อนจะส่งสาร ได้อธิษฐานจิตว่า หากเจ้าของเส้นผมและสารรักอยู่ในแห่งหนใด ก็ขอให้สารรักนี้ลอยน้ำไปในที่แห่งนั้น ปรากฏว่าผอบทองลอยน้ำทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำ ณ ที่ปากห้วยหอม ท้าววรจิตรจึงกลาบลาพ่อแม่ เพื่อออกเดินป่า ตามหานางผมหอมที่ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไป พอถึงวันเจ็ดวันถ้วน นางผมหอมก็ได้ลงมาอาบน้ำตรงปากน้ำห้วยหอมอีก นางผมหอมเห็นผอบทองก็เปิดอ่านดู ต่อมาท้าววรจิตรได้พบนางผมหอม ได้เกิดความรักขึ้น ท้าววรจิตรจึงได้ครองรักกับนางผมหอมบนปราสาทนั้นหลายสิบปี จนมีบุตรชายด้วยกัน ต่อมาพญาช้างทราบข่าวรู้สึกเสียใจและโกรธ จึงได้ใช้งาแทงและงัดภูเขาห้ทลายลงมาจนหินบนภูเขาเกลื่อนกลาดดังเป็นรูปภูหอ ที่ปรากฏปัจจุบัน พญาช้างเสียใจน้ำตาไหลนองจนเป็นที่มาของหนองน้ำแห่งหนึ่งในภูหอ ชื่อหนองน้ำตาช้าง นางหมอหอมทราบข่าวก็มาหาพ่อและปลอบใจพ่อ พ่อก็ได้สั่งเสียว่า ถ้าพ่อตายไป ก็ให้เอางาและกระดูกของพ่อมาทำเป็นเรือแล้วนำพาลูกและสามีกลับเมือง จากนั้นพญาช้างก็ได้สินลมปราณลงตรง เดิ่น (ลาน) ช้างตาย (ปัจจุบันเป็นลานกว้างใหญ่อยู่เชิงภูหอ)

เมื่อเก็บศพพ่อเสร็จก็ได้เอางาและกระดูกทำตามที่พ่อสั่งเสียกลับเมืองเซไล และต่อมาท้าววรจิตรได้ขึ้นครองเมืองเซไลแทนบิดาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมปกครองเมืองด้วยความผาสุกตลอดอายุขัย

อำเภอภูหลวง โดยความรร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้ร่วมใจกันจัดงานสืบสารประเพณีพญาช้างนางผมหอมขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ณ สนามที่ว่าการอำเภอภูหลวง

ศาลพญาช้าง-นางผมหอมแห่งนี้ ได้ก่อสร้างขึ้นในปี 2543 (นายเนตร บัวโทน นายอำเภอภูหลวง) และได้รับการก่อสร้างปรับปรุงตัวศาลใหม่ในปี 2551 (นายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอภูหลวง)

ผู้ให้ข้อมูลตำนาน อ.ทองหล่อ ศรีหนารถ, นายประพนธ์ พลอยพุ่ม, นายทองแดง ธรรมกุล, นายหรุ่น พิมพ์เสนา, นายวิเชียร เดชวงศิลป์, สมุนพญาช้างนางผมหอมหมู่บ้านวัฒนธรรมหนองบัว

ผู้รวบรวมข้อมูลตำนาน ผอ. ทรงศิลป์ แสนโคตร

สถานที่ตั้ง
ตำบล ภูหอ อำเภอ ภูหลวง จังหวัด เลย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ตำบล ภูหอ อำเภอ ภูหลวง จังหวัด เลย
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่