อำเภอท่าตะเกียบ ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าความเป็นมาของอำเภอท่าตะเกียบให้ฟังว่า “ท่าตะเกียบ”มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางกรุงเทพฯ ได้คิดทำการก่อสร้างเสาชิงช้าที่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และได้แจ้งตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ให้หาไม้แดงเอาไป ทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม บ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้งขณะนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้รายงานไปทางกรุงเทพฯจึงได้ส่งทหารมาดูเห็นไม้แดงงาม ๒ ต้น บริเวณป่าที่มีต้นไม้แดงอยู่ห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้งประมาณ ๑ กิโลเมตร เมื่อได้ไม้แดงตามที่ต้องการ ก็ทำการล่องไปตามลำคลองสียัคออกคลองท่าลาดและนำเข้ากรุงเทพฯ แต่เนื่องจากไม้แดงมีขนาดใหญ่ บริเวณที่ทำการลากไม้ลงคลองสียัคจึงรายเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านได้เรียกบริเวณนั้งว่า ท่าลงไม้ตะเกียบ และเพี้ยนมาเป็นท่าตะเกียบจนทุกวันนี้
อำเภอท่าตะเกียบ ตั้งเป็นอำเภอท่าตะเกียบ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การแบ่งเขตท้องที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ในสมัยที่นายวงษ์ เลิศไพศาล เป็นนายอำเภอ มีเขตการปกครอง ๒ ตำบลคือ ตำบลท่าตะเกียบ และตำบลคลองตะเกรา และหน้าทางเข้าของที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ จะมีเสาชิงช้า ซึ่งจำลองจาก เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานครตั้งอยู่เป็นสัญญลักษณ์ประจำอำเภอ อำเภอท่าตะเกียบอยู่ห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ ๘๔ กิโลเมตร มีเนื่อที่ ประมาณ ๖๗๗,๕๐๐ ไร่หรือ๑,๐๘๔ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน มีประชากรประมาณ ๔๔,๑๕๗ คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร มีวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่บุญบั้งไฟ ประเพณีบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อเขากา ฯลฯ