ประวัติความเป็นมา
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในปีใด โดยจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะ พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปแบบล้านนาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จึงอาจกำหนดอายุได้ว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 21 (ช่วง พ.ศ. 2050 – 2099) ทั้งนี้ เนื่องจากพระเจ้าหลวงองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ และมีฐานะเป็นพระประธานของพระวิหารวัด ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าพระเจ้าหลวงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ส่วนงานช่างที่ปรากฏในปัจจุบัน อาจเป็นงานซ่อมที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาพลเทพฤาชัยได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้เมื่อปี พ.ศ. 2091
ขนาด
หน้าตักกว้าง 4.50 เมตร สูง 6 เมตร
วัสดุที่ใช้สร้าง
ปูนปั้น ลงรักปิดทอง
พุทธลักษณะ
เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางมารวิชัยแบบวีราสนะ (ขัดสมาธิราบ) พระพักตร์ (หน้า) กลม พระรัศมีเป็นทรงเปลวไฟ พระขนง (คิ้ว) โก่ง พระนาสิก (จมูก) โด่งค่อนข้างงุ้ม แย้มพระโอษฐ์ (ยิ้ม) พระวรกายล่ำสัน ทรงครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี (ท้อง) ปลายแยกออกจากกันเป็นรูปหางปลา มีการประดับลวดลายที่ชายสังฆาฏิ
ศิลปะ
ล้านนาระยะหลัง
สถานที่ประดิษฐาน
พระวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
แหล่งอ้างอิง
สรัสวดี อ๋องสกุล. (2561).พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. (2529). ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. ในเมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ(หน้า 39-241). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.