ศาลปู่เทศ – ปู่จันทร์
รายละเอียดข้อมูล
ศาลปู่เทศ – ปู่จันทร์ นับว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์มากศาลหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๖ ตำบลหน้าไม้ ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ในความปกครองของอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ตำบลนี้อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลาดหลุมแก้วไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๘ กิโลเมตร มีรถยนต์เข้าถึง ศาลนี้ไม่เป็นที่เคารพบูชาเฉพาะแต่คนในตำบลหน้าไม้เท่านั้น แม้แต่คนเมืองอื่นที่จำเป็นต้องผ่านสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็ต้องหยุดแสดงความเคารพเสียก่อนเสมอ แล้วจึงจะเดินทางต่อไปโดยสวัสดิภาพ เพราะเคยสำแดงเดชบันดาลให้เกิดปวดหัวปวดท้อง ถึงกับเสียชีวิตกันก็มี
เกร็ดประวัติศาสตร์
เมื่อหลายชั่วอายุคนมาแล้ว ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้วทางทิศตะวันตกแถบตำบลหน้าไม้นั้น เป็นป่าพงแขมรกชัฏหนาทึบ มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีโขลงช้างอยู่มากมาย มีหนองน้ำใหญ่อยู่ในป่าซึ่งใกล้กับบริเวณวัดหน้าไม้ในปัจจุบัน สัตว์ป่าและโขลงช้างเหล่านั้นจะเดินลงมาอาศัยกินน้ำ อาบน้ำ ในหนองน้ำนั้นเป็นประจำ ทางเดินของโขลงช้างเป็นร่องลึกจนกลายเป็นคลองใหญ่อยู่ถึงทุกวันนี้ ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกขานว่า “คลองลาดช้าง” ปัจจุบันคลองแห่งนี้เป็นคลองส่งน้ำสำหรับเกษตรกร ตามโครงการของกรมชลประทานอีกด้วย
“ปู่เทศ” เป็นชื่อของชายคนหนึ่ง เป็นคนถิ่นไหนไม่ปรากฏ ได้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว ด้านทิศตะวันตกเป็นคนแรก ประพฤติตัวเป็นพรานป่าเที่ยวล่าสัตว์ มีอาวุธประจำตัวคือ “หน้าไม้” สามารถใช้หน้าไม้ได้คล่องแคล่วและยิงแม่นมาก
วันหนึ่งพรานเทศได้เอาหน้าไม้แขวนลืมไว้ที่กิ่งไม้ในป่า บังเอิญมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในตัวเมือง ทางทิศตะวันออกบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดินทางมาเก็บของป่า ได้มาพบเจอหน้าไม้ที่แขวนไว้ จึงใช้เป็นที่สังเกตเพื่อไม่ให้หลงทาง และใช้เป็นเครื่องหมายนัดแนะพบกัน ณ ที่หน้าไม้แขวนนั้นเสมอมา จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกตำนานของชื่อตำบลหน้าไม้มาจนถึงทุกวันนี้
พรานเทศมิใช่แต่เป็นพรานอย่างเดียว ยังเป็นนักเลงใหญ่อีกด้วย แต่ก็มีจิตใจซื่อสัตย์ มีเมตตากรุณาและโอบอ้อมอารี ใจคอกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีเพื่อนคู่หูคนหนึ่งชื่อ “จันทร์” ทั้งสองคนมีความรักใคร่กันมาก กาลต่อมาได้มีคนอพยพมาทำมาหากินและถางพงป่าเพื่อทำไร่นากันมากขึ้น จึงได้ไปแสดงความคารวะพรานเทศและยกย่องให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน เมื่อช้าง ม้า วัว ควาย ของคนถิ่นอื่นหาย หากมาบอกพรานเทศก็จะได้รับความช่วยเหลือกลับคืนทุกรายเนื่องจากเป็นผู้ที่มีความชำนาญในพื้นที่แถบนั้นที่สุด พรานเทศจึงเป็นที่รักใคร่และได้รับการเคารพยกย่องจากคนทั่วไป
เมนูอาหารจานพิเศษอย่างหนึ่งของพรานเทศ ที่มักทำสำหรับเลี้ยงแขกต่างเมืองและนับว่าเป็นอาหารชั้นดีที่หากินได้ยากคือ เมื่อเวลามีแขกมาถึงบ้าน พรานเทศจะให้ลูกน้องไล่วัว ควาย ลงนอนในหนองน้ำเพื่อให้ปลิงตัวโตๆ ที่เราเรียกกันว่า “ปลิงควาย” เกาะกินเลือดวัว ควาย จนท้องเป่งดีเสียก่อน
ปลิงสมัยก่อนนั้นหาได้ไม่ยากเพราะยังเป็นป่าและมีปลิงชุกชุม พอหย่อนเท้าลงไปในน้ำก็เกาะขาเป็นพวง
จนแกะแทบมาทัน ต้องเอามีดมาปาดใส่ปี๊บ เมื่อปลิงดูดเลือดควายจนท้องเป่งดีแล้ว ก็จะจับเอาปลิงเหล่านั้นมา โดยเอาเชือกผูกหัวท้ายทั้งสองข้างให้แน่นเพื่อไม่ให้เลือดในตัวปลิงไหลออก เสร็จแล้วจึงเอาขึ้นย่างไฟ แล้วเอามีดขูดผิวดำๆ ออก เอาไปยำแกล้มเหล้าเลี้ยงแขกต่างเมือง
เมื่อพรานเทศสิ้นชีวิต บรรดาชาวบ้านที่รักใคร่เคารพนับถือ ต่างก็พร้อมใจกัน ประกอบพิธีศพตามประเพณีของท้องถิ่นในสมัยนั้นอย่างเอิกเกริก สมเกียรติของหัวหน้าทุกอย่าง และได้ร่วมใจกันสร้างศาลเพื่อระลึกถึงพรานเทศขึ้นในบริเวณที่พรานเทศอาศัยอยู่ และทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของพรานเทศขึ้นสิงสถิตในศาลนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งกรรมดี อีกทั้งจะได้ปกป้องรักษาคุ้มครองคนภายในท้องถิ่น ให้อยู่รอดปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและภยันตรายทั้งปวง
ศาลนี้ปรากฏว่ามีคนสร้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความศรัทธาและความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน หากต้องการจะได้สิ่งใดจะมาบนบานขอเมื่อได้ตามเจตนาแล้วก็จะมาแก้บนให้สิ่งของตามที่บนไว้ ส่วนใหญ่เครื่องแก้บนมักจะใช้เหล้าขาว หัวหมู ไก่ ขนมปลากิมขาว ขนมปลากิมแดง ขนุน
ปัจจุบันนี้ ศาลพรานเทศ ก็ยังคงปรากฏอยู่ ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “ศาลปู่เทศ-ปู่จันทร์” อันเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป อีกทั้งทางราชการก็ตั้งชื่อท้องถิ่นบริเวณที่พรานเทศลืมหน้าไม้แขวนไว้ในป่าว่า “ตำบลหน้าไม้” เพื่อเป็นเกียรติแก่พรานเทศอีกด้วย ความศักดิ์สิทธิ์กอปรกับความเชื่อถือของประชาชน จึงได้มีการร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งในบริเวณใกล้กับศาล แล้วให้ชื่อว่า “วัดหน้าไม้” และสร้างโรงเรียนขึ้นอีกหลังหนึ่งอยู่ติดกับวัด ชื่อว่า “โรงเรียนวัดหน้าไม้” หรือ “โรงเรียนชุมชนวัดหน้าไม้” ตราบจนทุกวันนี้
ที่มา : จากบทความในเว็บไซด์องค์การบริหารตำบลหน้าไม้ http://www.namaipathum.com
โดย นางสาวนริศรา เดชดี