พิธีกรรม เป็นการกระทำที่เราสมมุติขึ้น เป็นขั้นตอน มีระเบียบวิธี เพื่อให้เป็นสื่อกลาง หรือหนทาง ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ และทำให้เกิดความสบายใจ มีกำลังใจ ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ลักษณะสำคัญของพิธีกรรม ได้แก่
๑.เป็นสื่อสัญลักษณ์ แสดงถึงความเป็นจริง เช่นการไหว้ การคำนับต่างๆ
๒.ทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ กำลังใจ เพราะความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติของมนุษย์
จากความหมายของพิธีกรรมดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า พิธีกรรมเป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดความสบายใจ และเป็นสื่อกลางระหว่างความเชื่อต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งพิธีกรรมนี้เกิดขึ้นและอยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว ซึ่งปรากฏหลักฐานด้านต่างๆ ทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน และปรากฏในหลายพื้นที่ของโลก เช่น ยุโรป เอเชีย เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างตามความเชื่อของแต่ละชุมชน และศาสนา และบางพิธีกรรมก็ปฏิบัติกันเฉพาะกลุ่มชุนเท่านั้น (สุเมธ เมธาวิทยากุล: ๒๕๓๒)
ประวัติความเป็นมา
ชาวไทยพวน มีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบเอกลักษณ์ของตนเองในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม วิถีการดำเนินชีวิต เช่น การแต่งกาย อาหารที่บริโภค และฝีมือในการ
ทอผ้า และการละเล่นที่มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่การละเล่นบางอย่างจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น เล่นในประเพณีกำฟ้า ในประเพณีใส่กระจาด การละเล่นบางอย่างเป็นการละเล่นที่เด็ก ๆ
ในปัจจุบัน ไม่ทราบหรือไม่มีการนำมาเล่นแล้ว ดังนั้นการละเล่นในประเพณีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูและเผยแพร่ในช่วงชั้น ๆ ตามเทศกาลเป็นส่วนใหญ่
โดยภาพรวมคนไทยจะมองว่าคนพวนเป็นชาวพุทธที่เคร่งศาสนา มีความรู้ เคารพผู้อาวุโส
รักครอบครัว รักสงบ สามีชาวพวนมักให้เกียรติภรรยา หมู่บ้านพวนมักไม่มีคดีร้ายรุนแรง คนพวนเป็นคนมีวัฒนธรรมมิใช่คนป่าเถื่อน สิ่งที่หล่อหลอมคนพวนให้มีบุคลิกภาพดังกล่าวนี่แหละ คือ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวพวนที่ถ่ายทอดมาทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ เช่น คำสอน นิทาน วรรณคดี ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ศิลปกรรมต่างๆ
ในบ้านเดิมคือประเทศลาวมีคนพวนเหลืออยู่ไม่มาก แต่ในเมืองไทย คนพวนเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แม้ภาษา ความเชื่อ และประเพณีพิธีกรรมบางอย่างจะคล้ายคลึงกับคนไทยอีสานหรือลาวอีสาน แต่ก็ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ด้านประเพณี คนพวนมี พิธีกำฟ้าซึ่งทำในเดือน ๓ ชาวพวนจะนำข้าวเปลือกไปสวดสูตรขวัญข้าวที่วัดแล้วนำกลับมาใส่ในยุ้งข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคล ในวันสงกรานต์ ชาวพวนมีพิธีอาบน้ำก่อนกาเพื่อชำระมลทินและเสริมสิริมงคล แต่รุ่งเช้า มีพิธีพาขวัญสูตรชะตาซึ่งเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาที่วัด
พิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา เป็นประเพณีของชาวไทยพวนแต่โบราณ จัดขึ้นในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ไทย คือวันสงกรานต์ ซึ่งชาวไทยพวนมีความเชื่อว่าการได้ทำพิธีดังกล่าวถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัว พร้อมทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุประจำปี ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นตำบลที่มีชาวไทยพวนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการจัดพิธีพาขวัญสูตรชะตาเป็นประจำทุกปี ในงานประเพณีสงกรานต์ ณ วัดฝั่งคลอง และบ้านอื่นๆ ที่มีไทยพวนอาศัยอยู่
พิธีพาขวัญสูตรชะตาของชาวไทยพวน ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
จะจัดขึ้นในวันมหาสงกรานต์ หรือวันบุญสงกรานต์ของชาวไทยพวน คือในวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี
รูปแบบและกระบวนการของพิธีกรรม
ขั้นตอนในการจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อประกอบพิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา
๑)การทำข้าวเกรียบ (ข้าวเขียบ)
นำข้าวสารเหนียวที่แช่น้ำได้ที่แล้ว ไปนึ่งจนสุกร้อนๆ แล้วรีบนำไปใส่ครกโขลกจนเนื้อข้าวเหนียวนุ่มเป็นเนื้อเดียวกัน นำข้าวออกจากครกใส่ลงในกระด้ง นวดคลึงเป็นก้อนกลมโต ก่อนแยกข้าวออกมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ จะต้องเตรียมใบตองตัดเป็นแผ่นๆ มารอง โดยหาถ้วยมาหนึ่งใบเทน้ำมันหมูลงไปเล็กน้อยกระเทาะไข่เอาแต่ไข่แดงกวนเข้ากับน้ำมันหมู่ก่อนปั้นข้าว เอามือชุบน้ำมันหมูผสมไข่นิดหน่อย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ ส่วนไข่นั้นจะทำให้ข้าวมีสีเหลืองสวยและหอม ถ้าจะให้ข้าวเขียบเวลาย่างไฟพองโตสวยงาม ก็จะต้องนำเอาเถาวัลย์หรือรากเถาวัลย์ ชาวบ้านเรียกกันว่า เครือตดหมา มาโขลกตำใส่น้ำเล็กน้อยแล้วเอาน้ำตดหมา พรมนวดเคล้าให้เข้ากับข้าวเหนียวให้ทั่ว แล้วจึงแยกข้าวเหนียวออกเป็นก้อนๆ ขนาดเท่าฟองไข่ไก่ อย่าลืมเอามือชุบไข่กับน้ำมันหมูก่อน เอาก้อนข้าวเหนียวที่แยกออกมากดลงไปบนใบตองที่เตรียมไว้ ใบตองนั้นก็ต้องทาน้ำมันบางๆ รีดออกเป็นแผ่นให้แบนกว้างตามต้องการ โดยทั่วไปทำแผ่นโตประมาณฝ่ามือกางออก เสร็จแล้วนำออกตากแดด เป็นอันเสร็จ เครือตดหมานั้นถ้าหายาก จะใช้เครือตดหมูแทนก็ได้ แต่ชาวบ้านเชื่อกันว่าไม่สามารถพองได้ดีเท่าเครือตูดหมา เมื่อตากแดดแห้งพอดีแล้ว ก็นำมาเก็บไว้ในที่สะอาด พอถึงเวลาใช้ก็นำมาย่างไฟเป็นอันใช้ได้
๒)การเตรียมพิธีพาขวัญสูตรชะตา
ผู้ที่มีหน้าที่ตระเตรียมพาสูตรนี้ มักจะเป็นผู้สูงอายุในบ้าน เพราะรู้เรื่องดีกว่า ประกอบด้วยเสื้อและผ้านุ่งของคนทุกๆ คนในครอบครัว คือ เสื้อหนึ่งตัว กางเกงหรือผ้านุ่งอีกหนึ่งผืน จากนั้นก็จะหาขี้ผึ้งมาฟั้นเป็นเทียนไส้ยาวต่อกัน เพื่อนำมาวัดตามค่าความยาวของ ศอกถึงปลายก้อย วัดโดยรอบศีรษะ และวัดจากคอหอยถึงสะดือ ของแต่ละคน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่า “ศอกก้อย เวียนหัว ค่าคีง” เมื่อทุกคนในบ้านวัดค่าความยาวของแต่ละคนเสร็จแล้ว จึงใช้เล็บหยิกเทียนเท่าอายุของตนเอง แต่ให้หยิกเกินอย่างน้อยหนึ่งรอยเป็นการต่ออายุ แล้วรวบเทียนเหล่านั้นรวมกันเพื่อนำไปใส่พาสูตร แล้วก็มาถึงขั้นตอนการแต่งพาสูตร ซึ่งประกอบไปด้วย ถาดหนึ่งใบ ภายในถาดจะมีข้าวเหนียว ๙ ก้อน ปั้นขนาดเท่ามะนาวลูกเล็กๆ ปักด้วยเทียนที่มีไส้พร้อมที่จะจุดได้ วางรวมอยู่กลางถาด รอบๆ ขอบถาดวางด้วยข้าวเกรียบ (ข้าวเขียบ) จำนวน ๙ แผ่น (ย่างแล้ว) วางทับด้วยกลีบข้าวต้มมัดกลีบละแผ่น จัดอาหารส้มและหวาน อย่างละ ๙ ชุด แต่ละชุดมีหมากพลู ยามวนหรือบุหรี่พร้อมในถาดนั้น เสร็จแล้วปักเทียนไว้ที่ข้าวต้มแต่ละกลีบ นำเทียนศอกก้อยเวียนหัว ค่าคีง มัดรวมกันวางไว้บนถาด ยกถาดพาสูตรไปวางเทินไว้บนปากกระบุง ภายในกระบุงนั้นก็จะต้องเตรียมเครื่องที่ใช้ในการทำพิธีพาขวัญสูตรชะตา ประกอบด้วย เสื้อผ้าที่เตรียมไว้ ข้าวสารประมาณ ๑ ลิตร ทราย ๑ ถุง หรือครึ่งลิตร น้ำจืด ๑ ขวดย่อม หญ้าคา ๒-๓ กอ มัดรวมเป็นกำ ดอกไม้ธูปเทียน ๑ กำ หาบข้างหนึ่งมีกระบุงพาสูตร อีกด้านหนึ่ง มีถังน้ำสังกะสี (ห้ามใช้ถังพลาสติกเพราะไฟจะไหม้เวลาทำน้ำมนต์) บรรจุน้ำครึ่งถัง สำหรับทำน้ำมนต์ขณะที่พระสงฆ์สวดคาถาเทียนจะติดไฟลุกโชติช่วง การเตรียมพาสูตรได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำเข้าร่วมพิธีได้ในวันรุ่งขึ้นเช้า
ขั้นตอนการทำพิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา
หลังจากที่ชาวไทยพวนได้ทำบุญตักบาตรถวายภัตราหารคาวหวานแด่พระภิกษุสงฆ์ และ
เมื่อพระสงฆ์ได้ฉันท์ภัตราหารหวานคาวที่ชาวบ้านนำมาถวายเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้เริ่มพิธีกรรมสูตรเสื้อสูตรผ้า โดยชาวบ้านจะนำหาบพาสูตร และถังน้ำ ไปตั้งเรียงไว้ตามสถานที่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นพระสงฆ์จำนวน ๙ รูป ขึ้นประจำที่ แล้วใช้เส้นฝ้ายเวียนรอบหาบพาสูตรที่ชาวบ้านนำมาตั้งเรียงไว้ และเพื่อให้เกียรติแก่ประธานฝ่ายฆาราวาส ทางวัดจึงได้เรียนเชิญเป็นผู้นำในการจุดเทียน ในขันห้าที่ชาวบ้าน นำมาประกอบพิธี หลังจากนั้นประธานฝ่ายสงฆ์จึงนำพระสงฆ์จุดเทียนศอกก้อยเวียนหัว ค่าคีง เป็นอันดับต่อไป โดยพระสงฆ์จะสวดบทชัยมงคลคาถาไปพร้อมกับการทำพิธีหยดเทียนด้ายมงคล
หลังจากทำพิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา
หลังจากพิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา เสร็จสิ้นลงแล้ว ชาวบ้านจะนำอุปกรณ์ในการประกอบ
พิธีกรรมกลับบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถ้านำกลับบ้านแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งอุปกรณ์ที่ชาวบ้านนิยมนำกลับไปบ้านได้แก่
น้ำมนต์ นำกลับไปปะพรหมที่บ้าน บางคนก็นำน้ำมนต์ไปผสมน้ำให้สมาชิกในครอบครัว
ได้อาบ เพราะเชื่อว่าเมื่อได้อาบน้ำมนต์จากการทำพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและสมาชิกในครอบครัว
ทราย นำไปหว่านรอบบ้าน เพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งอัปมงคลไม่ให้
เข้าบ้าน
หญ้าคา นำไปเหน็บไว้บนหลังคา หรือประตูบ้าน เพราะเชื่อกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริ
มงคล (ชาวฮินดู) เรียกว่า หญ้าอมฤต และพระพุทธเจ้าปูนั่งบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จมรรคผล
เสื้อผ้า จากพิธีกรรมพาขวัญสูตรชะตา นำไปใส่ในวันรุ่งขึ้น (วันขึ้นปีใหม่จะเป็นมงคลกับ
ตัวเจ้าของ) ยกเว้นข้าวสาร ชาวบ้านจะนำมาถวายวัด