รอยพระพุทธบาทจำลองวัดสง่างามตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25000 ซึ่งรอยพระพุทธบาทจำลองวัดสง่างาม อยู่ภายในมณฑปพระครูสีลวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่ผิว) ณ วัดสง่างาม ซึ่งมีความสวยสดงดงาม โดยความเชื่อที่ว่า “รอยพระพุทธบาท” หมายถึง รอยเท้าของพระพุทธเจ้า มีมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป เมื่อภายหลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น รอยพระพุทธบาทได้กลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงความเป็นดินแดนสิริมงคล ซึ่งก็คือดินแดนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จดำเนินไปถึง ความหมาย ความสำคัญของรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้ามาบำเพ็ญพุทธกิจ และเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้ามา ส่วนวงกลมในรอยพระบาท คือ ธรรมจักร นั้นอาจเป็นเครื่องหมายแห่งคำสอนที่ประทานไว้ เปรียบได้กับล้อหมุนพาเข้าไปหาความเจริญ การเคารพบูชาสถานที่ และวัตถุอันมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเป็นส่วนพระองค์นั้น คงเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ ครั้งที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ สถานที่หลายแห่งในอินเดียซึ่งมีความเชื่อกัน ว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จไปนั้น ได้กลายเป็นปูชนียสถาน ที่มีผู้คนไปนมัสการ บูชาแทนตัวพระพุทธเจ้า ในขณะที่ไม่ได้ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งบางแห่งมีความเชื่อว่า มีร่องรอยการสัมผัสของพระพุทธองค์อยู่อย่างถาวร เป็นสักขีพยานถึงการได้เสด็จมา และเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ และพระธรรมซึ่งพระองค์ได้ประทานไว้แก่โลก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า รอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เป็นปูชนียวัตถุที่ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชา มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนปัจจุบัน รองจากพระพุทธรูปและพระสถูปเจดีย์แล้ว รูปและรอยพระพุทธบาท ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าที่ บูชากันโดยแพร่หลายที่สุด ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในสมัยโบราณยังไม่มีการสร้างรูปเคารพ หรือตัวแทนของพระพุทธเจ้า จึงทำให้มีการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ แทน เช่น ถ้าจะกล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น จะสลักเป็นภาพต้นโพธิ์ และมีพุทธบัลลังก์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ มีการสร้างธรรมจักร ซึ่งหมายถึง ตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เป็นต้น ต่อมาจึงมีการสร้างรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถานเกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากคติ 2 คติ คือ คติของชาวอินเดียและคติของชาวลังกา และได้มีการแพร่หลายไปยังดินแดนใกล้เคียงที่มีการนับถือพุทธศาสนา
คำบูชารอยพระพุทธบาท
" อิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง
ทุติยัมปิ อิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง
ตะติยัมปิ อิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง "