ประเพณีแห่ “จากาโว่”เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยจัดที่บ้านปลายนาสวน ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ ในวันขึ้นปีใหม่ วันออกพรรษา เข้าพรรษาของทุกปี จากาโว่เป็นภาษากะเหรี่ยง เรียกสิ่งที่มีลักษณะเหมือนตุงของทางภาคเหนือ แตกต่างกันที่ ตุงทางภาคเหนือจะทำด้วยผ้าหรือกระดาษทั้งผืน แต่จากาโว่ ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะทำมาจากใบมะพร้าวหรือใบตาล มาตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ปลายทั้งสองข้างตัดให้มนหรือแหลม นับจำนวนหลายร้อยชิ้นและนำมาถักด้วยด้ายหลายสีที่ละแผ่นให้สวดงาม บางรายก็ประดิษฐ์ด้วยก้านมะพร้าวหรือไม้ไผ่ แล้วถักร้อยด้วยด้ายสีสวยงาม แล้วนำไปผูกไว้ปลายเสาไม้ไผ่ ตอนปลายของจากาโว่ยังมีการตกแต่งโดยประดับด้วยดอกไม้ กระจกเงาหรือกระดิ่งให้ดูสวยงามอีกด้วย ลุงจรูญ สวัสดิ์ชโลบลกุล แห่งบ้านปลายนาสวน เกิดและเติบโตที่นี่ เล่าว่า บางคนที่ประดับประดาด้วยกระจกเงา ก็ด้วยความเชื่อว่า ผลบุญที่ทำจะสะท้อนกลับมาสวยงามด้วยกระจกเงาบานเล็กๆนี้ หรือบางคนจะประดับด้วยกระดิ่งพวงเล็กๆ เมื่อต้องลมที่พัดมาจะส่งเสียงดังไปยาวไกลได้นาน ก็เชื่อว่า ผลบุญจะสะท้อนชื่อเสียงให้ขจรขจายไปเหมือนกระดิ่งที่ประดับไว้ ในวันปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง วันออกพรรษา วันเข้าพรรษา พวกเขาจะแต่งตัวสวยงามด้วยชุดพื้นเมืองที่ทำมาจากผ้าทอ ผ้าลวดลายสีสันฉูดฉาดสวยงาม ไปร่วมแห่จากาโว่ ประกอบพิธีฟ้อนรำไปถวายวัดถ้ำองจุ และถวายพระนั่งองค์ใหญ่ ในถ้ำองจุ