สักการะบูชา ปึงเถ่ากง - ปึงเถ่าม่า ร้านสกลรุ่งเจริญภัณฑ์
ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณของเมตตาธรรมมูลนิธิสกลนคร และในระหว่างวันที่ 11 – 16 ธันวาคม ของทุกปี พื้นที่ในเขตเทศบาลนครสกลนคร ต่างจะได้ยินเสียงเชิดสิงโตดังกระหึ่มไปตามท้องถนน หลายคนสงสัยว่างานอะไร มีที่มาที่ไปอย่างใด ครับ ที่นี่ย่อมต้องมีคำตอบแน่นอน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีชาวจีนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นระเบียบเรียบร้อย และง่ายต่อการดูแลชาวจีน พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นจึงทรงแต่งตั้งขุนนางเป็นคนจีนในตำแหน่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี มากำกับดูแลชาวจีนด้วยกันชาวจีนในเมืองไทยเมื่อมีความเดือดร้อนก็มักจะพากันมาหาพระยาโชฎึกราชเศรษฐีก็กลายเป็นศูนย์รวมเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ชาวจีนทั้งหลาย เวลามีงานเลี้ยงมีงานสารทและพิธีกรรมต่างๆ ก็ใช้บ้านของพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นสถานที่จัดงาน เมื่อเวลานานวันเข้า ชาวจีนมีจำนวนมากขึ้นจึงแบ่งกันเป็นชุมชนหลายๆ ชุมชน เห็นว่าบ้านของพระยาโชฎึกราชเศรษฐีคับแคบ ไม่เพียงพอกับการจัดงานสังสรรค์และจักทำพิธีกรรมต่างๆ จึงได้ตกลงร่วมใจกันจัดสร้างศาลเจ้าของแต่ละชุมชนเพื่อประกอบพิธีกรรมอันเป็นมงคลต่างๆ แรกเริ่มได้สร้างเป็นศาลเจ้า เรียกกันว่า “ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง –ม่า ’’ และได้นิยมสร้างเป็นศาลเจ้าเพื่อเผยแพร่ออกไปตามแต่ละชุมชนและแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ก็ยังมีการสร้างศาลเจ้าของเทพเจ้าองค์อื่นๆตามมาด้วย เช่น ศาลเจ้าไต่ฮงกงโจวซือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น
ปึงเถ่ากง –ม่า เป็นเทพเจ้าแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อกันว่าเมื่อผู้ใดได้กราบไหว้บูชาจะดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขประกอบกิจการงานใดๆ ลุลวงไปด้วยดี เป็นเทพเจ้าที่คนจีนและคนไทยเชื่อสายจีนทุกคน มีความศรัทธา และสักการบูชา เป็นศูนย์รวมแห่งน้ำใจของชาวจีนอันแสดงถึงความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันซึ่งเปรียบเทียบเสมือนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ความเป็นมาของศาลเจ้าปึงเถ่ากง – ปึงเถ่าม่า สกลนคร
เมื่อต้น ปี พ.ศ. 2504 ( 50 ปีที่แล้ว ) พ่อค้าชาวจีนสกลนคร มีประมาณ 80 ครอบครัว มีพ่อค้าที่ได้พบปะสังสรรค์กันอยู่เป็นประจำได้ปรึกษาหารือกันที่จะสร้างศาลจ้า “ปุงเถ่ากง –ปุงเถ่าม่า ’’ ขึ้นเพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวจีนและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำรงชีวิตสร้างขนบธรรม เนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษ สร้างความสามัคคีกลมเกลียวกันในหมู่คณะจึงมีผู้ดำเนินการก่อตั้งสร้างศาลเจ้าในครั้งแรกอันประกอบไปด้วย
1. นายใบ แซ่เตีย ( บิดานายเต็ก ตีรสวัสดิชัย )
2. นายเต็ก ตีรสวัสดิชัย
3. นายเซี่ยวย้ง แซ่โง้ว ( นายบุญยง แซ่โง้ว )
4. นายสุรินทร์ วรรัตนธรรม
5. นายวิเชียร อรุณเกียรติก้อง
6. นายคอยู้ แซ่เตีย
7. นายฉั่งเอี๋ยว แซ่คู
8. นายสุ่ยหยู แซ่คู
9. นายซุ่งกุ่ย แซ่อึ้ง
10. นายเซียมฮั้ว แซ่เอี้ยว
11. นายเซียมง้วน แซ่เจียม
12. นายวิศิษฐ์ วัฒนะสุชาติ
13. นายปองศักดิ์ ว่องพานิชเจริญ
ในการสร้างศาลเจ้าปึงเถ่ากง –ปึงเถ่าม่า ครั้งเริ่มแรก ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้า ถนนสุขเกษม ตรงธนาคารทหารไทย สาขาสกลนครปัจจุบันเมื่อถึงคราวจัดงานสมโภช สักการบูชา คณะกรรมการจัดงานก็สร้างสิ่งเชี่ยง ( ที่ประทับปึงเถ่ากง –ปึงเถ่าม่า ) และเวทีงิ้วชั่วคราวที่บริเวณลานโพธิ วัดศรีบุญเรือง ( เดิม ) ถนนใจผาสุก ตรงร้านสเลเต และร้านมงคลพานิช ปัจจุบัน ได้อันเชิญปึงเถ่ากง –ปึงเถ่าม่า แห่ทั่วเมือง เพื่อให้ชาวตลาดร้านค้าได้กราบไหว้ และรับรูปของปึงเถ่ากง –ปึงเถ่าม่า ไปปักไว้ที่กระถางธูปที่บ้านเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว เมื่อแห่ทั่วเมืองแล้วก็อัญเชิญมาประทับที่สิ่งเชี่ยง เพื่อจัดงานสมโภช ซึ่งในสมัยแรกนั้น แสดงงิ้วเพียง 3 วัน ประมาณปี พ.ศ. 2508 ได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่บนที่ดินของ ยายนาค วิทยาขาว ซึ่งเป็นแม่ยายของ นายเซียมฮั้ว แซ่เอี้ยว ( ร้านสกลมิลเลอร์ ) เป็นบริเวณที่ดินที่มีระดับสูงมาก อยู่ข้างโรงเรียนสกลนคร ( วันครู 2501 ) ถนนสุขสวัสดิ์ ใกล้ศูนย์ราชการ และในเวลาต่อมาคณะกรรมการจัดงานได้ย้ายสถานที่จัดงานสมโภชมาที่สนามโรงเรียนสกลราษฎร์อนุกูล ถนนเปรมปรีดา ซึ่งเป็นบริเวณห้างศรีสกลพลาซ่า ปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2525 ได้สร้างศาลเจ้าหลักใหญ่ มาตรฐานตามแบบของศาลเจ้าจีนในจังหวัดใหญ่ๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการก่อสร้าง มีสีสันลวดลายตามแบบตำราจีนงบประมาณในการก่อสร้างได้รับแรงศรัทธาจากพ่อค้าในจังหวัดสกลนครจำนวนมาก สร้างในบริเวณสนามเมตตาธรรมมูลนิธิสกลนครติดกับศาลไต่ฮงโจวซือ ในพื้นที่ 3 ไร่ ถนน ต.พัฒนา ในโอกาสนี้ นายสุรินทร์ –นางพรรณพิศ วรรัตนธรรม ได้บริจาคเงินสร้างประตูทางเข้าศาลเจ้าด้วย และได้จัดงานสมโภชที่บริเวณสนามเมตตาธรรมมูลนิธิสกลนครตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ได้จัดงาน 6 คืน ตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 16 เดือนธันวาคม ทุกปี.