งานประเพณีทำบุญชักพระเล่นเพลง ทำบุญตักบาตรกลางน้ำ วัดป่าพฤกษ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีหลักฐานว่าเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางปลาม้า โดยถือว่าเป็นงานประเพณี ที่งดงามแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่โบราณนับร้อยปี เมื่อถึงช่วงหลังจากวันออกพรรษาของทุกปี ชาวบ้านจะอันเชิญพระพุทธรูปออกจากสถานที่ตั้งสักการะนำมาประดิษฐาน ในมณฑลพิธี แล้วนำพระประติมากรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ (เรือพระ) ล่องไปตามลำน้ำท่าจีนเรียกว่า พิธีชักพระ เพื่อให้ประชาชน ที่ศรัทธาได้กราบนมัสการและร่วมอนุโมทนาส่วนบุญ ในขณะเดียวกันก็จะมีบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านร่วมขับขานตำนานเพลงโบราณ เช่น เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย นำหน้าขบวนพิธีชักพระ ส่วนในวันรุ่งขึ้นก็จะมีการทำบุญตักบาตรกลางน้ำ โดยประเพณีทำบุญชักพระซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำเดือน 12 และตักบาตรกลางน้ำ ตรงกับวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
งานประเพณี ทำบุญตักบาตรกลางน้ำ มีความเป็นมาว่า ในสมัยก่อนโน้น ยังไม่มีถนนหนทาง บ้านเรือนราษฎรจะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และใช้แม่น้ำโดยยานพาหนะทางเรือ เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กันและเช่นเดียวกันพระสงฆ์ ก็จะใช้เรือพายบิณฑบาต ไปรับอาหารจากชาวบ้านซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุ บอกว่าที่จัดให้มีการตักบาตรกลางน้ำขึ้น โดยนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหมดพายเรือมารับอาหารนั้น เกิดจากช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชาวบ้านไม่ว่างไปทำบุญที่วัด เพราะติดฤดูกาลทำนา ชาวบ้าน จะไปทำนาโดยไปสร้างขนำโรงนาเป็นที่พักชั่วคราว ทำนาเสร็จจึงจะกลับมาบ้าน จึงว่างเว้นจากการทำบุญ ตักบาตรไป เมื่อว่างจากการทำนาจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดที่อยู่ริมแม่น้ำในบริเวณใกล้เคียงมารับบิณฑบาตจำนวนนับ ๑๐๐ รูป โดยมีประชาชนร่วมกันอำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาต โดยการพายเรือและรับสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธาถวายใส่บาตร อันเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงร่วมมือร่วมใจ และความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำท่าจีนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี