ชาวภาคใต้รุ่นก่อน ๆ จะรู้จักและรู้ถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างดี ในส่วนของบายศรีนั้น ท่านผู้รู้ส่วนใหญ่จะรับทราบกันดีว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อของอินดู การนำเอาบายศรีมาใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การยกเล่าเอก วางศิลาฤกษ์ งานแต่งงาน งานสุหนัต มะโย่ง โรงครู การทำขวัญนาค การแห่ขบวนต่าง ๆ ฯลฯ การทำขวัญต่าง ๆ นั้นก็เพราะมาจากคติความเชื่อว่าเขาพระสุเมรุเป็นที่สถิตของเทพยดาต่าง ๆ การนำเอาบายศรีมาตั้งเป็นเครื่องประฐานในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ คติความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของพิธีกรรม โดยเชื่อว่าเทวดาทั้งหลายได้อัญเชิญมาในพิธีกรรมนั้น ๆ ได้มาสถิตอยู่บนยอดบายศรี หรือเขาพระสุเมรุจำลองนั้นเอง เพื่อมาเป็นสักขี มาประสิทธิ์ประสาทพร และโชคชัยให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรม เช่น เป็นองค์ประธานในการประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่าง ๆ บายศรีของชาวพุทธในภาคใต้จะมีหลายขนาดโดยมีชั้นของบายศรีเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของบายศรีจะใช้ต้นกล้วย หรือหยวกกล้วยเป็นแกนกลาง และใช้ใบตองประดิษฐ์เป็นกลีบบัวหรือกลีบดอกไม้ ฐานของบายศรีจะใช้พานขนาดใหญ่เป็นฐานรองรับ การนำเอาบายศรีไปใช้ในพิธีกรรมของชาวพุทธในภาคใต้พบว่ามีใช้อยู่มากหลายพิธีกรรม เช่น การทำบายศรีไปใช้ในพิธีทำขวัญต่าง ๆ ใช้ในพิธีกรรมสำคัญ เช่น โนราห์โรงครู ตายาย ผีลง ฯลฯ ในกลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งชาวมุสลิมในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายมลายู จะใช้หยวกกล้วยหรือต้นกล้วยขนาดเล็กเป็นแกนกลาง ส่วนกลีบบัวหรือกลีบดอกไม้จะใช้ใบพลู เป็นเครื่องตกแต่ง ในคำมลายูปัตตานี เรียกใบพลูว่า ซีเระ ส่วนคำมลายูกลางจะเรียกว่า ซือรี คำว่า ซีเระหรือซือรี ที่แปลว่าพลู นั้นจะตรงกับคำราชาศัพท์ของไทยที่เรียกพลูว่าศรี และเรียกหมากพลูว่า พระศรี ส่วนเชี่ยนหมาก เรียกว่า พานพระศรี ซึ่งคำว่าศรีที่ใช้ในราชาศัพท์ที่แปลว่าพลูนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ ว่ามีที่มาจากคำมลายูซึ่งคือคำว่า ซีเระ หรือซือรี นั่นเอง และคำว่าบายศรีนี้ก็เรียกกันในภาษามลายูปัตตานีว่า บุงอซีเระ ส่วนมลายูกลางจะออกเสียงเป็นบุหงาซือรี แต่ทางราชการไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บัญญัติคำว่า บายศรีเสียใหม่เป็นคำลูกผสมระหว่างคำมลายูกลางกับคำมลายูปัตตานี โดยเรียกบายศรีของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า บุหงาซีเระ