ฟ้อนผางประทีปเป็นการฟ้อนแบบพื้นเมือง หรือแบบดั้งเดิม มีลักษณะเชื่องช้า แช่มช้อย เรียบง่าย ไม่ค่อยพิถีพิถันในเรื่องการกรีดนิ้ว ตั้งข้อมือ ย่อเข่า ยกเท้า วางเท้า การทรงตัว รวมทั้งการยืดตัว ยุบตัวตามจังหวะเพลง การฟ้อนแบบนี้หมายถึงการฟ้อนต่าง ๆ ที่ตกทอดมาโดยไม่มีการปรับปรุง ซึ่งอาจมีอายุมากเท่ากับอายุของเมืองเชียงใหม่ หรือเกินกว่า ๗๐๐ กว่า ปีมาแล้ว แต่เราไม่อาจบอกได้ว่าเรียงร้อยด้วยท่าฟ้อนที่มีชื่อว่าอะไรบ้าง เกิดขึ้นในสมัยใด มีลีลาท่าทางอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานเหลือไว้ให้ศึกษาสืบค้นหารายละเอียดได้เลยแต่ก็พอจะสรุปวัตถุประสงค์ของการฟ้อนได้จากสาเหตุ ๒ ประการคือ
ก. เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เริ่มจาก “ผี” ก่อนได้แก่ ฟ้อนผี จากนั้นพัฒนาไปหา “พุทธ” ได้แก่ฟ้อนแห่ครัวทาน ฟ้อนทานข้าวใหม่ฯ
ข. เพื่อความสนุกสนานบันเทิงในกลุ่มของคน เช่น งานปีใหม่ (สงกรานต์) งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวชลูกแก้ว ฯลฯ ทั้งนี้ พอจะจำแนกการฟ้อนของล้านนาออกมาเป็น ฟ้อนแห่ครัวทาน (ฟ้อนเล็บ) ฟ้อนผี ฟ้อนหางนกยูง ฟ้อนปั่นฝ้าย ฟ้อนแง้น ฟ้อนเชิง (อ่านว่า “ฟ้อนเจิง”) ฟ้อนดาบ ฟ้อนหอก ฟ้อนกลายลาย (อ่านว่า “ฟ้อนก๋ายลาย”)
ฟ้อนผางหรือเรียกทั่วไปว่า ฟ้อนผางประทีป เป็นการแสดงที่มาจากชาวไทลื้อ ท่ารำมาจากท่าพื้นฐานการรำดาบ มีความเชื่อเกี่ยวกับการได้รับอานิสงส์ของการบูชาผางประทีปและการสอดแทรกความน้อบน้อม
เครื่องแต่งกายผู้หญิง
๑. ผ้าซิ่นยาวคร่อมเท้า
๒. เสื้อปกป้ายสีม่อฮ่อม ผูกชายด้านข้าง
๓. เกล้าผมมวย
๔. โพกศีรษะแบบเคียนรอบศีรษะด้วยผ้าสีขาว
๕. พาดสไบที่ไหล่ขวา แล้วนำชายสไบทั้งสองด้านมาไขว่กันที่เอวด้านซ้าย คาดทับด้วยเข็มขัด
๖. ผางประทีป
เครื่องแต่งกายผู้ชาย
๑. เสื้อขาว ๒. กางเกงสะดอ
เครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลองชัยยะมงคล ฆ้อง ฉาบหรือสว่า แต่ภายหลังได้มีการแต่งเพลงฟ้อนผางขึ้น
โรงเรียนชุมชนบ้านข่วงเปาเหนือ ได้เล็งเห็นถึงการฟ้อนแบบเมือง แบบดั้งเดิม จึงได้ฝึกสอน ให้นักเรียนได้ สืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามนี้ เพื่อมิได้สูญหายไป และได้นำนักเรียนเข้าร่วมแสดงในงานประเพณีต่างๆของอำเภอจอมทอง เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมฟ้อนผางให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมทั่วไป