เชี่ยนหมากคือ ภาชนะที่ใช้ใส่อุปกรณ์และเครื่องประกอบในการกินหมากให้รวมอยู่ใน
ที่เดียวกัน การกินหมากมีส่วนประกอบหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ หมาก พลู ปูนแดง และอาจมีเครื่องประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น สีเสียด พิมเสน กระวาน กานพลู ยาเส้น สีผึ้งทาปาก
ดังนั้นจึงต้องมีภาชนะต่าง ๆ ไว้สำหรับใช้บรรจุ เช่น จอกหมาก ซองพลู เต้าปูน กล่องหรือตลับสำหรับใส่เครื่องประกอบอื่น ๆ ในการกินหมาก และจัดรวมไว้ให้อยู่ในที่เดียวกันเรียกรวมว่าเชี่ยนหมาก เชี่ยนมาก ทำขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ มากมาย เช่น ทอง เงิน นาก ทองเหลือง กระ ย่านลิเภา ไม้ งา เป็นต้น มีรูปร่างแตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้และความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เชี่ยนหมากจึงถือได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่างและความคิดในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ของบรรพบุรุษไทยได้เป็นอย่างดี การกินหมากนั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาช้านานแล้ว ไทยก็เป็นชาติหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการกินหมากมาแต่โบราณ ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณและวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ มากมายที่แสดงให้เห็นว่า ในวัฒนธรรมไทยนั้นการกินหมากมีอยู่ทั้งในชนชั้นสูงตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงชั้นสามัญทั่วไป ไม่เว้นหญิงชาย ตั้งแต่หนุ่มสาวไปจนถึงแก่เฒ่า และมีธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการกินหมากอยู่มากมาย เช่น การกินหมากร่วมเชี่ยนหมากเดียวกันเป็นการผูกมิตรไมตรี การเคี้ยวหมากจนแหลกแล้วเรียกกันว่าชานหมาก ถือเป็นการสื่อรักกัน ในสมัยโบราณแม้ว่าการกินหมากจะเป็นวัฒนธรรมในการบริโภคที่ได้เสื่อมความนิยมไปแล้วตามกาลเวลา แต่ในปัจจุบันเชี่ยนหมากก็ยังคงมีการใช้กันอยู่ในฐานะที่เป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเรียกว่า พานพระศรี หรือเป็นเครื่องประกอบพระยศของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เรียกว่าพานหมากเสวย รวมทั้งเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ตามราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานับแต่โบราณกาล
นางกาญจนา ภูมิปัญญาวัฒน์อยู่บ้านเลขที่ 126/4 ถนนพลรัตน์ ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นเจ้าของเชี่ยนหมากโบราณ ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นเชี่ยนหมากทำด้วยไม้มีลวดลายงดงาม อายุประมาณ 70 ปี