ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 46' 29.073"
13.7747425
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 30' 47.1146"
100.5130874
เลขที่ : 192107
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น
เสนอโดย culture วันที่ 29 มกราคม 2557
อนุมัติโดย mculture วันที่ 31 มกราคม 2557
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
0 507
รายละเอียด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้นตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังดุสิต ตรงข้ามพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม และรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๐๐

ประวัติสถานที่เดิม เป็นโรงช้างต้นในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงช้างต้น พระราชทานแก่ พระเศวตอุดมวารณ์ ยืนโรง หลังจากได้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระหว่างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และล้มไปในปี พ.ศ.๒๔๕๒

รัชกาลที่ ๖ ในช่วงปีพ.ศ.๒๔๕๔ มีช้างเผือกมาสู่บารมี พระยาเพ็ชรพิไลยศรีสวัสดิ์ คล้องได้นำมาถวาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง ณ มณฑลพระราชพิธิที่สวนมิสกวัน พระราชทานนามว่า พระเศวตวชิรพาหฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยืนโรง อยู่ที่โรงช้างต้นแห่งนี้ และล้มไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๘

รัชกาลที่ ๗ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระเศวตคชเดชดิลกฯ จึงได้จัดสร้างโรงช้างต้นขึ้นอีกโรงหนึ่งคู่กับโรงช้างต้น พระเศวตวชิรพาหฯ ต่อเมื่อ พระเศวตวชิรพาหฯ และ พระเศวตคชเดชดิลกฯ ล้มไปแล้ว โรงช้างต้นทั้งสองจึงได้ว่างลงตราบจนกระทั่ง ถึงรัชกาลปัจจุบัน ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์โรงช้างต้นซึ่งพระเศวตวชิรพาหฯ เคยยืนโรงขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกเชือกแรกในรัชกาลโปรดพระราชทานนามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงช้างต้นขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อให้โรงช้างต้นอยู่ในเขตพระราชฐานใกล้ที่ประทับ ระหว่างที่กำลังก่อสร้างโรงช้างต้นนั้น โปรดให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ไปยืนโรงที่เขาดินวนาเป็นการชั่วคราว เมื่อโรงช้างสร้างเสร็จแล้ว จึงได้ไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

โรงช้างต้นเดิมในพระราชวังดุสิต ชำรุดทรุดโทรมลงมาตามกาลเวลา เมื่อรัฐบาลขอบริเวณรัฐสภา เนื่องจากพระที่นั่งอนันตสมาคมได้เป็นที่ทำการรัฐสภา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ สืบมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ อาคารโรงช้างต้นชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา เมื่อรัฐบาลสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ ด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภาขอความเห็นชอบสำนักพระราชวังรื้อโรงช้างต้นออกจากบริเวณรัฐสภา สำนักพระราชวังได้ร่วมกันปรึกษากับ กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าโรงช้างต้นนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดย เฉพาะอาคารมความสำคัญทางด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีที่เกี่ยวกับช้างเผือก ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงดำเนินการขออนุรักษ์รักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้เปิดให้บริการเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญมายุครบ ๖๐ พรรษา

อาคารโรงช้างต้น เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย ก่ออิฐถือปูน อาคารทรงไทยขนาดกว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร มีประตูเข้าออกด้านหน้า และด้านหลังมีประตูขนาดเล็กสำหรับผู้ดูแลช้าง หน้าต่างรอบอาคาร ๑๗ บาน ภายในมีแท่น เบญพาด สำหรับช้างต้นยืนโรง ลักษณะแท่นเบญพาด ประกอบด้วยเสาตะลุง ๒ ต้น ยอดเสาทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัน มีเสากลมขนาดเล็กพาดกลาง ระหว่างเสาตะลุงทั้งสอง เสาตะลุงแต่ละต้นฝังดินครึ่งหนึ่งของความยาวลำต้น เพราะต้องการความแข็งแรงเพื่อทานกำลังช้างได้ เสาตะลุงด้านหัวช้างจะอยู่สูงกว่าด้านท้ายช้าย ระยะห่างระหว่างเสาตะลุงขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของลำตัวช้าง ส่วนหัวช้างจะหันไปทิศใดก็ได้ โดยยกเว้นทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นทิศอัปมงคล ตรงข้ามเสาตะลุงทั้งสองต้น มีเสาหมอสำหรับตกปลอก (ผูกขา)และเสาหมอ นอกแท่นสำหรับตกปลอกขาหลัง เมื่อเวลายืนแท่นเบญพาด ยกพื้นสูงพอประมาณ เพดานตรงแท่นเบญพาดแขวนเบญจาสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยผ้าขาวลงยันต์เขียนเส้นทอง มีระบายสองชั้นขลิบทอง กลางเบญจาห้อยใบไม้กันภัยได้แก่ ใบเลียบ ใบเงิน ใบทอง ใบหญ้าพันงู ใบรัก ใบมะเดื่อ ใบอุทุมพร ใบมะม่วง ใบทองกวาว ใบตะขบ ใบมะตูม

การจัดแสดง :แบ่งอาคารจัดแสดงเป็น ๒ อาคาร

อาคารที่ ๑ว่าด้วยประวัติโรงช้างต้น ความหมายและความสำคัญของโรงช้างต้น ให้ความรู้ทางด้านคชศาสตร์ และคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือก การกำเนิดช้างมงคล การจับช้าง การคล้องช้าง ประเภทของช้าง นอกจากนี้ได้นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยช้าง พ่อหมอเฒ่า (ปฏิยายะ) พระพิฆเณศ อุปกรณ์ในการจับช้าง เครื่องรางของขลัง และงาช้างที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักรในรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ งาช้างสำคัญในรัชกาลที่ ๕ รูปช้างจำลอง หนังช้างเผือกดองในรัชกาลที่ ๔ พู่ขนช้าง แส้และแปรงขนหางช้าง เครื่องใช้ ในการประกอบพิธีราชสมโภช เป็นต้น

อาคารที่ ๒จัดแสดงการจำลองพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก ช้างเผือกจำลองทรงเครื่องคชาภรณ์ เครื่องพานพุ่มดอกไม้ และฉัตรเขียนอักขระ ประกอบพระราชพิธี นิทรรศการถาวร พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ในรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วยพิธีถวายช้างสำคัญ พิธีจารึกชื่อลงในอ้อยแดง กระบวนแห่ช้างสำคัญ เข้าสู่โรงพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยมหาสังข์ พระราชทานเครื่องคชาภรณ์ พราหมณ์อ่านฉันท์ถวายดุษฏีสังเวยกล่อมช้าง ศิลปินขับไม้ ช้างสำคัญอาบน้ำ ตักบาตร เลี้ยงพระ เวียนเทียน นอกจากนี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระชัยหลังช้าง ศาลพระเทวกรรม (พระพิฆเณศยืน) เครื่องประโคมได้แก่ แตรฝรั่ง แตรงอน บัณเฑาะว์ สังข์ และฆ้อง

โบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย แส้หางช้างพลายศรีประหลาด งาพระยาช้างต้น พ่อหมอเฒ่า หนังช้างเผือกดอง มีดชายธง ช้างเผือกจำลอง พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ พระยาช้างต้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โรงช้างต้นเก่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร

คำสำคัญ
ช้างต้น
หมวดหมู่
พิพิธภัณฑ์
สถานที่ตั้ง
อยู่บริเวณใกล้เคียงรัฐสภา
ถนน อู่ทองใน
อำเภอ เขตดุสิต จังหวัด กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่