ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 28' 23.9999"
15.4733333
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 4' 18.0001"
104.0716667
เลขที่ : 192552
การเล่นฉะเองหรือรำสะเองบ้านกุง ตำบลกุง อำเภอศิลาลาด
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 1204
รายละเอียด

การเล่นฉะเองหรือรำสะเองบ้านกุง

ตำบลกุง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ

ในพื้นที่อำเภอศิลาลาดมีชุมชนของชนเผ่าเยอ อยู่ที่ บ้านขาม บ้านกุง บ้านโพธิ์ไฮ และ บ้านโนนชาด (ลักษณะการปกครองขึ้นอยู่กับบ้านกุง หมู่ ๒) ปัจจุบันมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ให้สามารถพึ่งตนเองได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าเยอไว้ได้คือ ภาษาเยอ ที่ยังคงมีพูดอยู่ รวมถึงพิธีกรรมความเชื่อที่ยังคงมีการปฏิบัติอยู่เช่นเดียวกันแต่รูปแบบในบางประเพณีมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนของสังคม การศึกษาครั้งนี้ เลือกศึกษาเฉพาะบ้านกุง หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๑๓ เนื่องจากชุมชนคนเผ่าเยอในทุกชุมชนมีลักษณะคล้ายกัน วิถีชีวิต พิธีกรรมความเชื่อ ยังคงมีลักษณะเหมือนกัน บ้านขาม บ้านกุง บ้านโพธิ์ไฮ บ้านโนนชาด เป็นหมู่บ้านชาวเยอที่อยู่ติดกัน เป็นพี่น้องที่มีกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เสมอ รวมไปถึงบ้านเชือก บ้านกลาง บ้านจิก ตำบลจิกสังข์ทอง อำเภอราษีไศล เป็นหมู่บ้านชาวเยอที่มีอาณาเขตติดต่อกัน กับอำเภอศิลาลาด

ความเป็นมาของพิธีกรรมการเล่นฉะเอง

จากการสอบถามและสัมภาษณ์ นายสุพิชย์ วรรณวงษ์ ซึ่งชาวเยอบ้านกุง ให้ความนับถือเป็นหมอธรรมของหมู่บ้าน ทราบว่า การเล่นฉะเองมีลักษณะเดียวกันกับรำสะเองของคนลาว และคล้ายกับรำสะเอิงของส่วย รำแม่มดของเขมร ชาวเยอบ้านกุงจะเรียกว่า รำฉะเอง มีความเชื่อว่า การรำฉะเองเป็นการรำถวายแถนหรือผีฟ้า มีจุดมุ่งหมายการรำ คือ ตัวผู้ป่วยได้บนบานแถนเอาไว้ และบรรพบุรุษนับถือแถนแล้วจัดการรำฉะเองเพื่อถวายแถนให้ปกปักรักษาคุ้มครอง บางแห่งเรียกการรำฉะเอง ว่า รำสะเอง หรือรำนางออ ซึ่งเป็นประเพรีของชาวกวย เยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ

รำฉะเองเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวศรีสะเกษที่มีเชื้อสายกวย (ส่วยและเยอ) มาจากความเชื่อ ในการพึ่งพาสิ่งลี้ลับของธรรมชาติในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษ เทวดาที่อยู่บนฟ้า เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาปกปักรักษา ผ่านร่างทรงของแม่สะเองหรือการแก้บนที่ทำไว้เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อมีเหตุสำคัญที่ต้องอาศัยกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวกวยจะมีเชื้อสะเองแฝงอยู่ในร่างกายและยกให้เป็นมรดกตกทอด ซึ่งมักตกแก่ลูกสาวคนโตของครอบครัวไปเป็นทอด ๆ การรำ-ฉะเอง มักจะทำกันในช่วงเดือนยี่ ไปจนถึงเดือนหก ยกเว้นเดือน ๕ เพราะถือว่าเป็นเดือนที่ร้อนและจะมีการรำในโอกาสที่มีการรักษาคนป่วยซึ่งจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการรำ โดยทั่วไปมักจะทำในเดือนสาม เพราะพืชผลในไร่นาเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพที่จัดงานเตรียมพร้อมโดยการบอกเหล่าญาติพี่น้องทั้งใกล้และไกลมารวมกันตามวันที่กำหนด จัดทำปะรำพิธี ชั้นวางเครื่องเซ่นไหว้ เก็บดอกจำปา (ลั่นทม) มาร้อยมาลัย ถ้าไม่มีก็ใช้ดอกจานแทน เตรียมด้าย ใบตองกล้วย ทำขันเบ็งและกรวยดอกไม้ และกรวยดอกไม้ เทียนเหลือง เทียนขาว ข้าวตอกแตก บางแห่งมีเครื่องยกครูที่จัดไว้ในปะรำพิธี เรียกว่า เสาโฮง (เสาบายมือ) ที่ประกอบด้วย ซิ่น ๑ ผืน แพร ๑ วา เงิน ๑๒ บาท ดอกไม้สีขาว ๑๓ คู่ กรวย ๒๖ กรวย เทียน หมาก พลู บุหรี่ เหล้า ๑ ขวด น้ำส้ม ๑ ขวด ขันน้ำหอม ๑ ขัน ข้าวสาร ๑ ถ้วย ไข่ ๑ ฟอง ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น เทียนหนัก ๑ บาท ๑ คู่ ขันหมากเบ็ง ๑ คู่ หมากนิมนต์ ๒ คู่ สำหรับคนที่เข้าร่วมพิธีไม่จำกัดจำนวน

พิธีเล่นฉะเองเริ่มจากเจ้าภาพนำดอกจำปาหรือดอกจานคู่หนึ่งสี่พานหรือขันไปเชิญแม่สะเองที่เป็นแม่ทรง แม่สะเองบริวารของแม่ทรง แม่ฉะเองบริวารของแม่ทรง มาร่วมในพิธี การรำจะเริ่มโดยแม่ครูบนบานบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางไม่ให้มีอุปสรรคในการทำพิธี การทำพิธีนั้นจะอัญเชิญแถนให้มาเข้าสู่ร่างกายและมาสู่แม่ฟ้อน (นางรำ) คนอื่น ๆ โดยแม่สะเองถือขันภายในมีข้าวสาร เงิน เทียนเหลืองห่อหนึ่งและจัดเทียนขาวคู่หนึ่ง ดอกไม้ เมื่อผีเข้าทรง ร่างแม่ทรงก็สั่นทั้งตัว เมื่อเข้าทรงเสร็จแล้วก็รำพร้อมกันไปตามจังหวะและมีแม่ครูเป็นคนร้องนำ แล้วคนอื่นๆ ก็จะร้องตามรำเดินอ้อมปะรำพิธี รำไปจนกว่าแถนจะออกจึงเลิกรำกันไปเอง มีการพักเพื่อรับประทานอาหาร หรือเล่นการพนันระหว่างการรำสะเองด้วย

เมื่อฟ้อนรำไปได้ระยะหนึ่ง บรรดาแม่ฉะเองก็ใช้ด้ายที่แขวนบนชั้นมาทัดหู และนำมาลัยดอกจำปาหรือมาลัยดอกจานมาสวมบนศีรษะ หมอแคนหรือที่พวกฉะเองเรียกว่า ม้า ก็สวมมาลัยดอกไม้เช่นเดียวกัน จากนั้นก็ฟ้อนไปเรื่อย ๆ

จากการสังเกต สอบถาม และศึกษาเอกสารเพิ่มเติมทราบว่า การเล่นฉะเอง หรือสะเอง หรือสะเอิง ในบางแห่งผี บรรพบุรุษจะมาเข้าทรงในร่างของแม่ฉะเองทีละคน เริ่มจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และญาติที่ล่วงลับไปแล้วจนครบทุกคน เมื่อเข้ามาอยู่ในร่างทรงและจะทักถามลูกหลาน ลูกหลานก็ถามข่าวคราวของผีแถน และผีบรรพบุรุษ อดีตชาติของผีบรรพบุรุษเคยแสดงอย่างไรก็ปรากฏอย่างนั้น เช่น เสียวห้าว เสียงแหลม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมากพลู ผีแถนและผีบรรพบุรุษจะทักท้วง สาเหตุที่ลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะกระทำผิดหรือล่วงเกินอันใด ลูกหลานจะต้องขอขมา หาอาหารมาเลี้ยงเป็นราย ๆ ไป บางครั้งแถนที่เข้าทรงแม่สะเองที่อ่อนแอขี้โรค สามารถดื่มเหล้า ได้มาก โดยไม่มีอาการเมามาย หรือสามารถสูบบุหรี่ที่มีพริกแห้งสอดไส้โดยไม่จาม

ในการรำนั้นเพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม นิยมให้สวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน มีผ้าพาดบ่าเรียกว่า ผ้าแพรแฮ มีพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกจำปา (ลั่นทม) มาคล้องคอหรือสวมศีรษะด้วย มีแม่ครูเป็นผู้ร้องและรำไปด้วย การร้องบูชาแถนนั้นเป็นคำอ้อนวอนที่ขอให้ผู้ป่วยหายป่วยเร็วๆ เรียกขวัญให้กลับมาสู่ร่างกาย ความเจ็บอย่าให้ได้ความไข้อย่าให้มี

จุดมุ่งหมายของการเล่นฉะเอง

๑. เพื่อแสดงความกตัญญูต่อฉะเอง ผู้ซึ่งมีพระคุณ ซึ่งเคยรักษาตนเองจนมีชีวิตรอดมาได้

๒. เพื่อฉลองสมโภชน์หิ้งคาย

๓. เพื่อพบปะสังสรรค์ในกลุ่มผู้นับถือฉะเอง

๔. เพื่ออบรมกล่อมเกลาบริวารให้มีแนวปฏิบัติอยู่ในกรอบของสังคม

๕.เพื่อบูชาผีฟ้าและขอความเป็นสิริมงคลแก่ตนในการดำรงชีวิตในสังคมต่อไป

๖. เพื่อติดตามผลการรักษา

บทบาทของฉะเองต่อสังคมและการดำรงชีวิต

การรำฉะเอง หรือรำผีฟ้าเป็นวัฒนธรรมหนึ่ง และถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญที่ยังคงมีบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคมจากการศึกษาและสัมภาษณ์ภูมิปัญญาด้าน ทราบว่า ฉะเองมีบทบาทต่อประชาชนและสังคมหมู่บ้านชาวเยอ ดังนี้

๑. บทบาททางด้านการรักษาพยาบาลลักษณะเป็นที่พึ่งและเป็นความหวังของผู้เจ็บป่วยที่หมดทางรักษาของสังคมหมู่บ้าน

๒.บทบาททางด้านการสร้างเอกภาพในสังคมอบรมสั่งสอน ตักเตือนชาวบ้านไม่ให้ทะเลาะวิวาท หรืออื่น ๆ ที่ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ผิดผีและทำให้แตกความสามัคคีกัน

๓. บทบาททางด้านการควบคุมพฤติกรรมสังคมให้เป็นไปตามบรรทัดฐานสังคมโดยการกล่าวอ้างถึงอำนาจอิทธิฤทธิ์ของผีว่าสามารถทำให้มนุษย์ต้องมีอันเป็นไปได้ทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ตา ผีบ้านผีเรือน สามารถนำความ เจ็บป่วยมาสู่ลูกหลานที่ประพฤติกรรมนอกลู่นอกทางได้ การกล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าที่ละเมิดต่อผีก่อให้เกิดการเจ็บป่วยการดูถูกเหยียดหยามและไม่เคารพยำเกรงต่อผู้เฒ่าผู้แก่หรือผีบรรพบุรุษก่อให้เกิดการ

๔. บทบาททางด้านการคลี่คลายปัญหาในโดยการนำคติเกี่ยวกับผีมาลง เป็นแนวทางเพื่อลดความดึงเครียดทางสังคม นั่นคือ มักอ้างว่าผีไม่พอใจที่บุคคลทะเลาะกันจึงทำให้เจ็บป่วยและพิธีเลี้ยงข่วงผีฟ้าทำให้บุคคลที่มาร่วมพิธีสนุกสนาน เป็นต้น นอกจากนี้ หมอลำผีฟ้ายังเป็นผู้ปลุกปลอบและให้กำลังใจต่อชาวบ้าน ทั้งในยามเจ็บป่วยและยามล้มเหลว ในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ

๕.บทบาทที่มีต่อผู้นับถือฉะเองจะมีอิทธิพลต่อครอบครัวต่อผู้นับถือ เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่หรือประกอบกิจการต่าง ๆ ผู้นับถือต้องบอกกล่าวต่อผีฟ้า ในการดำรงชีวิตประจำวันต้องระมัดระวัง

คุณค่าของพิธีกรรมฉะเอง

๑. คุณค่าทางจิตใจ

ความสัมพันธ์ของฉะเองกับเครือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้ความเจริญ ก้าวหน้า ทางวัตถุก็ไม่สามารถแทรกเข้ามาแทนที่ความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านที่ยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ที่สืบทอดต่อๆกันมาอย่างยาวนานได้

๒. คุณค่าทางสังคม

เป็นพิธีกรรมซึ่งนำมาซึ่งความสมานฉันท์ สามัคคีรักใคร่กลมเกลียวของเครือญาติ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนที่อาศัยอยู่ในสังคม ชุมชนเดียวกัน ในการประกอบพิธีจะมีการช่วยเหลือกันในการเตรียมงาน การเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ฯลฯ

๓. คุณค่าทางวัฒนธรรม

เป็นการอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้น แสดงถึงจิตสำนึก ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าของตนเอง

สถานที่ตั้ง
บ้านกุง
ตำบล กุง อำเภอ ศิลาลาด จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
อำเภอ ศิลาลาด จังหวัด ศรีสะเกษ
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่