ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีของชาวอีสาน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เฮือไฟ” จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้ กล่าวคือพระพุทธเจ้าเสด็จไปฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพญานาคที่เมืองบาดาล และพญานาคได้ทูลขอพระพุทธองค์ประทับรอบพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ต่อมาบรรดาเทวดา มนุษย์ ตลอดจนสัตว์ทั้งหลายได้มาสักการะบูชา รอยพระพุทธบาท นอกจากนี้ประเพณีไหลเรือไฟยังจัดขึ้นเพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูล และเป็นการเอาไฟเผาความทุกข์ให้ลอยไปกับสายน้ำ
เรือไฟ หรือ เฮือไฟหมายถึง เรือที่ทำด้วยท่อนกล้วย ไม้ไผ่ หรือ วัสดุ ที่ลอยน้ำ มีโครงสร้างเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้าง เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น “ไหลเรือไฟ” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนอีสาน ยึดถือปฏิบัติ สืบทอด กันมาแต่ครั้งโบราณ ประเพณีการไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า "ล่องเรือไฟ" "ลอยเรือไฟ" หรือ "ปล่อยเรือไฟ" ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ
งานประเพณีไหลเรือไฟนิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ประเพณีไหลเรือไฟ มีความเชื่อเกี่ยวโยง สัมพันธ์กับข้อมูลความเป็นมาหลายประการ เช่น เนื่องจากการบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การระลึกถึงพระคุณ ของพระแม่คงคา เป็นต้น
ชุมชนบ้านสบคำเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง และเป็นชุมชนทมีวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจาก สปป.ลาว จึงมีการสืบสานประเพณีไหลเรือไฟ ๑๒ ราศี มาช้านานสามสิบกว่าปี เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ประเพณีการไหลเรือไฟของชาวบ้านสบคำ จะจัดขึ้นบริเวณลานชมวิวแม่นำโขงของชุมชน พอถึงวันงาน ชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์และสามเณร จะช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อไปลอยที่แม่น้ำโขง โดยส่วนมากชาวบ้านสบคำจะทำเป็นเรือไฟ ๑๒ ราศี และมีขบวนแห่อย่างสวยงามไปยังบริเวณลานชมวิวแม่น้ำโขงของหมู่บ้าน
ในช่วงเช้าจะมีการประกอบการกุศล โดยการไปทำบุญตักบาตร มีการถวายภัตตาหารเพลแล้ว เลี้ยงญาติโยมที่มาในช่วงบ่าย มีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งมีการรำวงเป็นการฉลองเรือไฟ พอประมาณ ๕ – ๖ โมง เย็น หรือตอนพลบค่ำ มีการสวดมนต์รับศีลและฟังเทศน์ ถึงเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ชาวบ้าน จะนำของกิน ผ้า เครื่องใช้ ขนม ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ ใส่ลงในกระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้งถึงเวลา จะจุดไฟให้เรือสว่าง แล้วปล่อยเรือให้ลอยไปตามแม่น้ำ
ประเพณีไหลเรือไฟ ของชาวบ้านสบคำที่มีการสืบสานกันมาอย่างช้านานทำให้ได้รับความสนใจและยกระดับเป็นประเพณีของระดับตำบลและอำเภอเชียงแสน