เครื่องเงินบ้านละอูบเป็นเครื่องเงินที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยชาวบ้านละอูบ
ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ละว้าจะนิยมประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายด้วยเครื่องเงิน มากไปกว่านี้เครื่องเงิน ยังเป็นส่วนหนึ่งในพิธีต่าง ๆ ของชาวละว้าด้วย เช่น พิธีรับขวัญเด็ก พิธีแต่งงาน เป็นต้น
การผลิตเครื่องประดับเงินบ้านละอูบในยุคแรกเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้แลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน ด้วยการบริโภคเครื่องประดับเงินเป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ของชนเผ่า เช่น ในพิธีรับขวัญเด็กจะต้องใช้สร้อยข้อมือ พิธีแต่งงานใช้เครื่องเงินในการเป็นสินสอดเพื่อสู่ขอเจ้าสาว หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่ บรรดาแขกที่ไปร่วมงานก็มักให้เป็นของขวัญแก่เจ้าของบ้าน ตลอดจนพิธีศพก็จะนำเอาเครื่องประดับเงินใส่ลงไปในโลงศพด้วยเชื่อว่าผู้ตายจะสามารถนำไปใช้สอยได้ในโลกหน้าเป็นต้น
นอกจากนี้ ตามปกติแล้วการแต่งกายพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าละว้าทั้งเพศหญิงและชายมักเต็มไปด้วยเครื่องประดับเงิน ผู้ชายมักจะสวมแหวนและมีมีดเงินไว้ใช้ติดตัว ขณะที่ผู้หญิงจะนำเอาเครื่องประดับเงินมาตกแต่งอาภารณ์ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทั้งกำไลข้อมือ แหวน ต่างหู และเฉลียง (ห่วงรัดแขน) ดังนั้น การผลิตเครื่องประดับเงินของบ้านละอูบในยุคแรกจึงมีรูปแบบและขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ตามแบบฉบับดั้งเดิมของชนเผ่า แต่ในปัจจุบันรูปแบบการผลิตได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากชาวบ้านนิยมแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองน้อยลง ประกอบกับบรรดาช่างฝีมือท้องถิ่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางด้านการค้ากับภายนอก จึงพยายามปรับรูปแบบและขนาดของเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัยและเหมาะต่อการใช้งานทั่วไปได้มากขึ้น โดยยังคงเอกลักษณ์ทางลวดลายแบบดั้งเดิมเอาไว้เพื่อให้แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ ลายเปลือกไม้ ลายดอกไม้ ลายหีบสมบัติ ลายดอกบัวตอง เป็นต้น