ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 19' 51.4816"
14.3309671
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 39' 11.6075"
99.6532243
เลขที่ : 195945
อาคารนิทรรศการ “อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้”
เสนอโดย กาญจนบุรี วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย กาญจนบุรี วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : กาญจนบุรี
0 421
รายละเอียด

อาคารนิทรรศการ นับว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลในการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ไว้ทั้งหมด อีกทั้งเป็นสถานที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อกำเนิดการเผยแผ่และพัฒนาการด้านการสืบทอดพระพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าหากพุทธศาสนิกชนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นเท่าใด การสืบทอดพระพุทธศาสนาจะก้าวหน้ายืนยาวและหยั่งรากลึกลงไปถึงแก่นได้มากขึ้นเท่านั้น

อาคารนิทรรศการแห่งนี้ มีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๒,๘๐๐ ตารางเมตร ออกแบบโดยเน้นศิลปกรรมแบบไทยพื้นบ้านที่เรียบง่าย หลังคาจั่วค่อนข้างลาด ไม่มีการยกชั้นอย่างลักษณะสถาปัตยกรรมในการสร้างวัดหรือวัง รวมถึงมีการเลือกใช้อิฐและไม้เป็นวัสดุหลัก เนื่องจากวัสดุเหล่านี้มีความงดงามด้วยเนื้อแท้ของพื้นผิวและลวดลายที่ให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การออกแบบอาคารนิทรรศการ จึงแสดงถึงความนอบน้อมและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติที่อยู่รายรอบ รวมถึงเน้นมุมมองที่ไม่บดบังองค์พระเป็นสำคัญด้วย ทางเข้าหลักอยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นดิน ซึ่งกำหนดพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นส่วนของโถงจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ บริเวณถัดไปมีการออกแบบทางเดินลาดสู่พื้นที่ชั้นล่างและมีทางเชื่อมสวนป่าพุทธอุทยานและสถานที่จัดนิทรรศการกลางแจ้ง โดยการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารนั้นแบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ ๑พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์

แสดงเรื่องราวความเป็นมาของการก่อสร้างพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ จากปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในขณะนั้น และแสดงเรื่องราวของการสร้างองค์พระขนาดใหญ่ สูง ๓๒ เมตร ยืนบนฐานที่สูงประมาณ ๘ เมตร ต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผสานกับงานช่างฝีมือโบราณเพื่อรังสรรค์พระพุทธรูปให้ถูกต้องตามลักษณะของพุทธศิลป์ จึงทำให้พระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์นี้มีโครงสร้างที่มีความแข็งแรงทนทาน โดดเด่น สวยงาม น่าเลื่อมใสต่อผู้ที่ได้พบเห็น

ส่วนที่ ๒การเดินทางของพระพุทธศาสนา

แสดงเรื่องราวของการหยั่งรากของพระพุทธศาสนาลงบนดินแดนสุวรรณภูมิ และเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายทั่วชมพูทวีป ทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์ ทรงสร้างสถูปเจดีย์จำนวนมาก และที่สำคัญ คือ “จารึกพระเจ้าอโศกมหาราช” ซึ่งทำให้ชาวตะวันตกยอมรับว่า “พระพุทธเจ้ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์”

ส่วนที่ ๓“เจติยะ” สิ่งที่ควรบูชา

จัดแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระพุทธศาสนา ตลอดจนหลักปรัชญาและคติคำสอนเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

“เจติยะ”หมายถึง สิ่งที่ควรบูชา เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อสารทางพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่า “เจติยะ (เจดีย์)” คือ ธรรมเจดีย์ พระพุทธองค์ทรงให้พระธรรมคำสั่งสอนเป็นศาสดา แทน “พระองค์ธาตุเจดีย์” สถูปสําหรับประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุบริโภคเจดีย์” คือ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน อีกทั้งยังอนุโลมให้ใช้สิ่งของที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย เช่น ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา บาตร จีวร เป็นต้น “อุเทสิกะเจดีย์” คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รอยพระพุทธบาท และธรรมจักร

ส่วนที่4 คบเพลิงแห่งธรรม

จัดแสดงเรื่องราวของการสืบทอดพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากความน่าสนใจของนิทรรศการภายในแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบให้มีทางเชื่อมต่อเพื่อนำไปสู่การชมนิทรรศการกลางแจ้งบริเวณสวนป่าพุทธอุทยานด้วย

ประติมากรรมที่มีรูปทรงคล้ายวิหารที่แสดงอยู่ในห้องนี้ สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ผู้ชมจินตนาการถึงสถานที่อันเปี่ยมไปด้วยพุทธิปัญญาเป็นแหล่งเรียนรู้พุทธธรรมเพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่มายาวนาน บริเวณภายนอกอาคารจะเห็นความงามของวิหารอันสง่างาม สีขาวบริสุทธิ์แสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็น “เปลือกที่เป็นภายนอกของสรรพสิ่ง” แสดงถึงความงามของเปลือกที่ดึงดูดใจให้เกิดปิติ ส่วนด้านในของประติมากรรม ผู้ชมสามารถมองเห็นเมื่อลงไปอยู่ด้านล่าง ได้แก่ “แก่น” โดยแก่นที่ปรากฏด้านในนั้น มีความโปร่งกับผิวหนังที่ขรุขระ แสดงถึงธรรมะ ที่ไม่ปรุงแต่ง แต่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ ฉะนั้น ทั้งด้านนอกและด้านในของ “วิหารแห่งจิตสำนึก” คือ “เปลือกและแก่น” ที่เป็นความจริงแห่งพุทธธรรมเมื่อใด ธรรมะเข้าถึง (แก่น) กลางใจพระพุทธศาสนา (เปลือก) ก็จะเจริญงอกงามสืบทอดยาวนานตลอดกาลนานเมื่อนั้น

สถานที่ตั้ง
อำเภอ ห้วยกระเจา จังหวัด กาญจนบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
มูลนิธิพระพุทธเมตตาประชาไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
อำเภอ ห้วยกระเจา จังหวัด กาญจนบุรี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่