ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 31' 56.375"
13.5323264
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 49' 15.1075"
99.8208632
เลขที่ : 195953
ซุ้มประตูจีน วัดช่องลม
เสนอโดย ราชบุรี วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย ราชบุรี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ราชบุรี
0 590
รายละเอียด

ซุ้มประตูจีน ตั้งอยู่ในสังฆาวาสวัดช่องลม สันนิษฐานว่าบ้านและซุ้มประตูเป็นศิลปะจีนสกุลช่างเก่าของจีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน มีภาพชุดอธิบายลวดลายมงคล กระเบื้องสี ลวดลายทิวทัศน์แบบจีน ไม้แกะสลักรูปเทวดา รูปเซียน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรีด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชน และชุมชนชาวจีน

ในอดีตพบหลักฐานบ้านเรือนของชาวจีนที่มีอายุเก่าแก่ เจ้าของได้ถวายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กับวัดช่องลม เนื่องจากเกิดอหิวาตกโรคข้าทาสบริวารในบ้านเสียชีวิตจึงย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่อื่น ซึ่งหลักฐานที่สำคัญที่ยังคงอยู่คือ ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน จากคำบอกเล่าของพระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลม "บ้านคนจีนบริเวณนี้น่าจะเป็นบ้านที่เก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ย มีฐานะดีระดับเศรษฐี มีข้าทาสบริวารมากมาย"

ภายในบริเวณบ้านมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก ได้แก่

๑) อาคารแบบจีนใต้ถุนสูงพื้นทำจากปูนขาวสอด้วยกาวหนังวัวและปูไม้กระดานทับผนังหนา เสาทำจากไม้สัก หลังคาใช้กระเบื้องที่นำเข้ามาจากเมืองจีนถูกดัดแปลงให้เป็นที่อยู่ของเด็กวัด

๒) อาคารตรงกลางที่มี ๘ ห้องต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนนักธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรม

๓) ศาลาริมน้ำมีชานยื่นออกไปสำหรับขึ้นเรือ กว้างประมาณ ๒ เมตร ซึ่งปัจจุบันศาลาท่าน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว

๔) ซุ้มประตูแบบจีนที่ยังหลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาแต่ก็ยังคงรูปแบบศิลปะแบบจีนที่สวยงาม

ปัจจุบันลักษณะของซุ้มประตูจีน ตัวซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน ประตูทางเข้าและเครื่องบนทำจากไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาสีแดง สันหลังคาประดับลวดลายด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งจะแบ่งให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ดังนี้

- ส่วนหลังคา หลังคาแบบซานเหมินติ่ง หมายถึง หลังคาสำหรับซานเหมิน ซานเหมิน คือชื่อเรียกอาคารหรือซุ้มด้านหน้าของบริเวณหนึ่ง โดยปกติอาคารซานเหมินจะทำหลังคาลดหนึ่งชั้นหรือซ้อนชั้น สันหลังคามีลักษณะแอ่นตรงกลาง ปลายสันหลังคาทั้ง ๒ ด้านจะเชิดหัวขึ้น ส่วนปลายสุดทำเป็นรูปหางนกนางแอ่น บนหางนกนางแอ่นเป็นมังกรพ่นน้ำลายเครือเถาหรือใบไม้ม้วนสะบัดปลายทั้งสองด้าน ส่วนกลางของสันหลังคาประดับปูนปั้นรูปกิเลน และหงส์ชูดอกโบตั๋นและดอกเบญจมาศตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางสีแดงที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนโค้งหงาย

- ตอนบน คือ ส่วนตั้งแต่เหนือขอบประตูจรดใต้หลังคา ส่วนนี้ประกอบด้วย ป้ายชื่อบ้าน และภาพเล่าเรื่อง ฮก ลก ซิ่ว ป้ายชื่อบ้านเป็นตัวอักษรจีน ๒ ตัว 合芳สีเหลืองบนพื้นสีแดง อ่านว่า “ฮวง ฮะ” (แต้จิ๋ว, อ่านจากหลังมาหน้า) เป็นชื่อเจ้าของบ้าน

- ตอนกลาง คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างฐานถึงตอนบนเหนือกรอบประตูมีตัวอักษรจีนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเขียนด้วยสีเขียวคู่กัน กรอบทางขวาอ่านว่า“ปู่” แปลว่า ร่ำรวย กรอบทางซ้ายอ่านว่า“กุ้ยหรือกุ่ย”แปลว่า ยศศักดิ์ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายมงคลและลวดลายต่างๆ ในกรอบกระจกเป็นภาพบุคคลและนก

- ตอนล่าง ส่วนที่เป็นฐานของอาคาร ประกอบจากคานหน้าตัดสี่เหลี่ยม ด้วยขนาดที่เล็กของซุ้มประตูนี้ทำให้มีคานแค่คานเดียวและใช้โครงสร้างทางตั้งมารับที่เรียกว่า เสาดั้ง รองรับแปกลม และมีไม้กลอนวางขวางแป เสาดั้งจะตั้งอยู่บนเสาอีกทีหนึ่ง โดยซุ้มประตูนี้มีด้านละ ๒ เสา มีขื่อพาดระหว่างเสาทั้งสองต้น การถ่ายน้ำหนักของหลังคาจะถ่ายลงบนแปกลมไปสู่เสาดั้ง และเสาทุกต้นทำหน้าที่รับแปโดยตรง จากหลักฐานมีชื่อเจ้าของบ้านเป็นผู้บริจาคทรัพย์สร้างศาลเจ้าพ่อกวนอูในสมัยรัชกาลที่ ๕ รูปแบบของแผนผังบ้านที่คล้ายคลึงกับบ้านจีนในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ และรูปแบบศิลปกรรมหลังคาแบบ ซาน เหมิน ติ่ง การตกแต่งลวดลายสันหลังคาโดยใช้กระเบื้องตัดหลากหลายสีสันเป็นที่นิยมทำในสกุลช่างแต้จิ๋ว

สถานที่ตั้ง
วัดช่องลม (เขตสังฆาวาส) (ซอยประตูฝั่งด้านหน้าวัดช่องลมติดกับแม่น้ำแม่กลอง)
เลขที่ 90 หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน วรเดช
ตำบล หน้าเมือง อำเภอ เมืองราชบุรี จังหวัด ราชบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง พระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลม
ชื่อที่ทำงาน หน่วยงานผู้ให้ข้อมูล วัดช่องลม
เลขที่ 90 หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน วรเดช
ตำบล หน้าเมือง อำเภอ เมืองราชบุรี จังหวัด ราชบุรี รหัสไปรษณีย์ 70000
โทรศัพท์ 032337537
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่