การจัดงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก ในช่วงวันขึ้น 11 – 15 ค่ำ ถือเป็นงานประเพณีประจำปีของวัดและของชุมชนมายาวนาน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเริ่มมีการจัดงานมาตั้งแต่พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทเสร็จและจัดงานทำบุญฉลองพระธาตุและได้ทำสืบต่อมาทุกๆ ปีจนถึงทุกวันนี้ ในอดีตมีการจัดงานในช่วง 11 – 15 ค่ำเดือน 3 แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจในการทำกสิกรรมจึงมีการเลื่อนออกไปเป็น 11 – 15 ค่ำ เดือน 4 แทน
โดยงานประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบกนี้จะมีการจัดงานพร้อมๆ กับงานประจำปีนมัสการหลวงพ่อองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างทั้งในเขตอุดรธานี หนองคาย จะไปนมัสการหลวงพ่อองค์ตื้อ และจะมานมัสการพระพุทธบาทบัวบกด้วย ในอดีตจะนิยมเดินเท้าขึ้นมา เนื่องจากถนนหนทางยังไม่ได้สะดวกดังเช่นปัจจุบัน และการเดินทางด้วยเท้าขึ้นมาเช่นนี้เชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์มาก และคณะที่เดินทางมาถึงจะมาพักผ่อนที่โนนสาวเอ้ก่อนจะเดินทางขึ้นไปที่พระพุทธบาท และเนื่องจากชาวบ้านบางส่วนเดินทางมาไกลก็จะต้องพักนอนที่พระพุทธบาทบัวบกก่อน และจะมีการจัดมหรสพ อาทิ หมอลำกลอน ให้กับชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ชมด้วย ในปี พ.ศ.2560 ได้มีการลดทอนเรื่องกิจกรรมบันเทิงลงไปและเน้นการจัดงานประเพณีไปที่พิธีกรรมทางความเชื่อและศาสนาแทน
ในช่วงของการเตรียมงานจะมีชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณตีนเขาและผู้มีจิตศรัทธา เดินทางมาช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาด เตรียมโต๊ะเครื่องบวงสรวงบูชาพระพุทธบาทและเหล่าเทพเทวดา พญานาคผู้รักษาพระพุทธบาท โดยการทำพานบายศรี เตรียมขนมหวาน ผลไม้ เครื่องบูชา
โดยมีรายละเอียดของเครื่องบูชาดังต่อไป
1. ข้าวดำ
2. ข้าวแดง
3. ข้าวพันก้อน
4. ข้าวเจ็ดสี
5. เมี่ยง
6. หมากพลู
7. ไข่ต้ม
8. ผลไม้ 9 อย่าง หรือจัดตามความเหมาะสม
9. พานบายศรี
10. ข้าวตอกดอกไม้
โดยจะนำไปจัดวางบูชาไว้ที่จุดต่างๆ คือ พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธรูปปางเปิดโลก ถ้ำพญานาค เป็นต้น ชาวบ้านได้ช่วยกันตกแต่งสถานที่ ตั้งเครื่องบูชาในจุดต่างๆ จะมีการตั้งเครื่องบูชาไว้ตั้งแต่วันแรกของงานและตั้งเครื่องบูชายาวไปจนถึงวันสุดท้าย ในการบวงสรวงบูชาจะมีการจัดโต๊ะบวงสรวงขนาดใหญ่ที่บริเวณหน้าถ้ำพญานาค และให้ประชาชนได้ร่วมถวายเครื่องบูชาซึ่งจัดเป็นชุด ประกอบด้วย น้ำดื่ม ไข่ ข้าวสาร กล้วยดิบหมากพลู บุหรี่ และธูปเทียน
ในการจัดงานนมัสการ 5 วัน 5 คืน นี้ จะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมปฏิบัติธรรมบวชชีพราหมณ์และมีการเจริญพระพุทธมนต์เป็นประจำทุกคืน และประชาชนทั่วไปก็จะบูชาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาสักการะพระพุทธบาท และจะมีการบวงสรวงใหญ่ในวันขึ้น 14 ค่ำบริเวณหน้าถ้ำพญานาค และหน้าพระธาตุ โดยหลังจากมีการบวงสรวงบอกกล่าวเทพเทวดา พญานาค สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะมีการร่ายรำหน้าแท่นบูชา เรียกว่า รำถวายมือ เสร็จจากพิธีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะมีการนำเครื่องบูชาไปถวายบูชาที่พระธาตุและที่พระพุทธบาท และ ในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายหลังจากการเจริญพระพุทธมนต์ก็จะมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุด้วย