การสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพต ช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่ละปี ชาวบ้าน 5 หมู่บ้านรอบภูเรือ เช่นบ้านภูเรือ บ้านป่าจันตม บ้านหนองเสือครางและบ้านไฮตาก และชาวบ้านเภอท่าลี่ ต่างเดินเท้าขึ้นยอด ภูเรือเพื่อกราบสักการะสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระพุทธนาวาบรรพต อัญเชิญมาจากวัดพระญาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2520 นำมาประดิษฐานบนยอดอุทยานแห่งชาติภูเรือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวภูเรือ ซึ่งทุกวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนภูเรือ ที่จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนามาสรงน้ำ และกราบสักการะ
พิธีสักการะพระพุทธนาวาบรรพต ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติภูเรือ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ ๑๕ เมษายน ชาวบ้านจะออกเดินทางกันตั้งแต่เช้าเพื่อขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติภูเรือ มีการตั้งขบวนต้นผึ้ง ต้นดอกไม้ และขบวนผีบุ้งเต้า เพื่อสักการะแด่พระพุทธนาวาบรรพตที่ประดิษฐานอยู่บนยอดภูเรือ ชาวบ้านมักจะนำน้ำมาจากด้านล่าง ขึ้นมาสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพตด้วย และด้วยความที่ ภูเรือปลูกน้ำเต้าได้ดี น้ำเต้าได้ผลใหญ่ก็เลยนำมาเป็นภาชนะในการบรรจุน้ำขึ้นมา กาลเวลาผ่านไป ความเป็นอยู่ของชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์มาจากเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่บ้านไฮตากคิดทำหน้ากากผีบุ้งเต้า โดยใช้ผลน้ำเต้าผลใหญ่ๆ มาเป็นวัสดุเพื่อสร้างมูลค่าของน้ำเต้าขึ้นมา ลวดลายของผีบุ้งเต้าจะเป็นรูปยักษ์ทวารบาล ที่มีเปื้อนรอยยิ้ม ถือว่าเป็นยักษ์ใจดี ปี ๒๕๖๒ นับว่าเป็นปีแรกที่มีการแห่หน้ากากผีบุ้งเต้าขึ้นมาบนยอดภูเรือ