เมื่อสมัยก่อนราษฎรชุมชนบ้าน “เลาขวัญ” มาจากเชื้อสายลาวที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเกาะเก่า มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และต่อมาได้มีชาวอำเภอบ่อพลอยอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น จึงมีการทอผ้าใช้กันในครัวเรือน และจำหน่ายให้แก่ประชาชนในตำบลใกล้เคียง และนักท่องเที่ยว และในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้ทอผ้า โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญ” ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของนางกาหลง สังขวรรณะ จากการทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา ๕ ปี แต่รายได้ยังไม่เพียงพอ จึงได้ออกจากงานกลับบ้านเกิดมาทำไร่ทำนา และเมื่อเห็นพี่สะใภ้รับจ้างทอผ้าที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเริ่มสนใจและไปเรียนรู้การทอผ้าแบบกี่กระตุกที่อำเภออู่ทอง และพัฒนาฝีมือจนสามารถสร้างรายได้นอกเหนือจากการทำการเกษตร เมื่อชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงเริ่มมาเรียนรู้กับนางกาหลง และเริ่มทอผ้ากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนเกิดการแข่งขันทางด้านราคา การจัดตั้งกลุ่มจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดมาตรฐานในเรื่องราคา และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในการพัฒนาการทอผ้าของกลุ่มให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเริ่มแรก กลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญ มีสมาชิกประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ ๓๐ – ๔๐ คน
จุดเด่นของผ้าทอบ้านเลาขวัญ เป็นผ้าทอมัดหมี่ ที่มีลวดลายตามความคิดและความสนใจของผู้ทอเป็นผ้าทอที่ราคาไม่แพง สีสันสดใส และสีไม่ตก โดยจำหน่ายชุดละ ๒๐๐ – ๗๐๐ บาท ต่อมา อำเภอเลาขวัญมีการจัดงานประเพณีประจำปี “วันโคบาลเลาขวัญ” หน่วยงานภาครัฐได้มีการสั่งผ้าขาวม้ามาใช้ในงานประเพณีดังกล่าว จึงเริ่มทำการทอผ้าขาวม้ากันมากขึ้น โดยขายราคาเพียงผืนละ ๑๕๐ บาท เท่านั้น นอกจากราคาไม่แพงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของฝาก หรือนำไปทำเป็นพวงหรีด จึงทำให้ผ้าขาวม้าของกลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญ เป็นสินค้าขายดี และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีขึ้น โดยใช้กลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญเป็นฐานเรียนรู้การทอผ้าพื้นเมือง จึงทำให้กลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญเป็นที่รู้จัก และสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือน และในปี
พ.ศ. ๒๕๖๒ เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด – 19) จึงทำให้ไม่สามารถจำหน่ายผ้าทอของกลุ่มสมาชิกได้ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็สามารถกลับมาขายผ้าทอได้เช่นเดิม
ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านเลาขวัญได้ทอผ้าลายขอ ซึ่งเป็นลายพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้ความสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงวัฒนธรรม ได้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง จึงเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างแท้จริง