วัดตะกาดเง้า เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอไตรกลางน้ำของวัดตะกาดเง้า มีความงดงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี
ประวัติความเป็นมา
ตามตำนานประวัติความเป็นมาของวัด กล่าวกันว่า เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอาจเป็นหลวงพ่อคล้าย หรืออาจเป็นหลวงพ่อสอน รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีวิชาด้านการแพทย์ได้เดินทางไปถวายการรักษาให้แก่เชื้อพระวงศ์ในเมืองหลวงจนหาย จึงได้รับพระราชทานหอไตรมาไว้ที่วัดแห่งนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและใบลานจารพระธรรมโดยเฉพาะคัมภีร์ พระไตรปิฎก
ลักษณะที่โดดเด่น
หอไตรกลางน้ำหลังนี้สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ สันนิษฐานว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหอไตรหลังนี้ถูกนำมาจากที่อื่น แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยการเข้าสลักไม้ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยกสูง
ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านนอกอาคารมีพื้นระเบียงเดินได้รอบ หลังคาทำเป็นแบบหอไตรทรงคฤห์(การสร้างหอไตรแบบมีหลังคาเป็นทรงจั่วครอบ แบบเดียวกับบ้านเรือนทั่วไป) ลดชั้นหน้าและหลัง หน้าบันกรุด้วยแผ่นกระดาน จำหลักลายเครือเถา ตรงกลางมีรูปเทพพนมบริเวณลวดลายมีการปิดทองร่องกระจก (การปิดทองร่องกระจก คือการใช้กระจกสีต่าง ๆ มาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วติดลงในพื้นร่องระหว่างลวดลาย เพื่อขับให้ลวดลายดูโดดเด่นขึ้น) ผนังด้านนอกรอบอาคารเป็นจิตรกรรมไทย ลายรดน้ำปิดทอง ซึ่งมีความงดงามมาก
คุณค่าทางวัฒนธรรม
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ เล่ม ๑๑๙