ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 40' 15.3973"
15.6709437
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 27' 11.2108"
99.4531141
เลขที่ : 197556
ประวัติอำเภอแม่เปิน
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 4 ตุลาคม 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 4 ตุลาคม 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 1313
รายละเอียด

แม่เปิน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ เป็น 1 ใน 2 อำเภอในประเทศไทยที่มีเขตการปกครองเพียงตำบลเดียว โดยมีที่มาของชื่ออำเภอตามคลองแม่เปิน (ปัจจุบันเรียกชื่อเป็นคลองโพธิ์) และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคลองแม่เปินที่จัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2489ท้องที่อำเภอแม่เปินเดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่วงก์-แม่เปิน ได้อยู่ในภายใต้เขตการปกครองของตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว ที่จัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2501

ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2530 นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร จึงจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติท้องที่จึงตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอแม่วงก์ขึ้น โดยโอนการปกครองตำบลแม่วงก์ ตำบลแม่เล่ย์ ตำบลวังซ่าน ตำบลเขาชนกัน ตำบลปางสวรรค์ และตำบลห้วยน้ำหอม ออกจากอำเภอลาดยาว จึงได้ย้ายการปกครองมาขึ้นกับกิ่งอำเภอแม่วงก์ ขณะจัดตั้ง
กิ่งอำเภอได้เพียง 7 เดือน เขตตำบลห้วยน้ำหอม ของกิ่งอำเภอแม่วงก์ได้แจ้งแก่ทางราชการว่าประชาชนตำบลห้วยน้ำหอมบางส่วน ไปติดต่อราชการกับอำเภอลาดยาว สะดวกกว่าไปติดต่อกับ
กิ่งอำเภอแม่วงก์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ยังมีพื้นที่บางหมู่บ้านที่ยังสะดวกในการติดต่อราชการกับกิ่งอำเภอแม่วงก์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 จึงแยกพื้นที่หมู่ 12, 16–21, 24–25 ของตำบลห้วยน้ำหอม ตั้งขึ้นเป็นตำบลแม่เปิน และแยกพื้นที่หมู่ 1, 1–11, 14–15, 22–23, 27 ของตำบลห้วยน้ำหอม ตั้งขึ้นเป็นตำบลชุมตาบง เพื่อให้ทั้ง 18 หมู่บ้านนั้นได้ขึ้นกิ่งอำเภอแม่วงก์ สองปีถัดมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ทางราชการจึงได้โอนท้องที่ตำบลห้วยน้ำหอม (ส่วนที่เหลือจากการแยกตำบลแม่เปินและตำบลชุมตาบง) กลับเข้าไปสมทบในการปกครองของทางอำเภอลาดยาวดังเดิม

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ราษฎรในตำบลแม่เปินร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้พิจารณาว่าตำบลแม่เปินมีสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ แนวโน้มมีความเจริญในอนาคต และความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จังหวัด สภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเขตท้องที่
กิ่งอำเภอแม่วงก์แยกพื้นที่ตำบลแม่เปิน ออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอแม่เปิน โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่15 กรกฎาคม พ.ศ.2539 และต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอแม่เปิน โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาค และถือเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และกลายเป็นอำเภอลำดับที่ 14 ของจังหวัดนครสวรรค์

อำเภอแม่เปินมี 1 ตำบล คือตำบลแม่เปิน ประกอบด้วย 24 หมู่บ้าน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ 82 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 162,625 ไร่หรือ 260.62 ตารางกิโลเมตรมีประชากรจำนวน 20,835 คน จำนวนครัวเรือน 6,557 ครัวเรือน โดยร้อยละ 85 ของประชากรเป็นชาวอีสานที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประตูสู่มรดกโลกห้วยขาแข้งของจังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในโซนผืนป่าตะวันตกแม่วงก์-แม่เปิน โดยมีทิศเหนือติดกับ ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ทิศใต้ติดกับ ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ส่วนทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลชุมตาบง และตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ และทิศตะวันตกติดกับ ตำบลระบา อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ประวัติความเป็นมา ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน

พื้นที่ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ นั้น ช่วงราว พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบุกเบิกที่ดินทำกินของประชากรจำนวนหนึ่ง ที่ได้อพยพเข้ามาแบบเทครัว ก็คือการอพยพมาทั้งตัวบุคคล และขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อทุก ๆ อย่างที่ฝัง รากลึกอยู่ในตัวทั้งหมดของตนเข้ามาด้วย ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินที่ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์แห่งนี้ โดยที่แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้นั้นเต็มไปด้วยป่า และเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเหมาะแกํการเพาะปลูก ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยรุ่นปู่ย่า ตายาย นั้นจะพาลูกหลานเดินทางอพยพมายังพื้นที่แห่งนี้ แล้วทำการถางป่าจับจองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ส่วนคนที่มาในระยะหลัง ๆ นั้นได้ซื้อที่ดินต่อจากคนที่มาก่อน และผู้คนที่อพยพมาส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอีสานที่มีภูมิหลังทำการเกษตรกรรม ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของคนภาค อีสานได้หลั่งไหลเข้ามาในท้องถิ่นแห่งนี้ด้วย

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในพื้นที่ในอดีตนั้นตำบลแม่เปิน มีลักษณะเป็นป่าดงดิบอยู่ในความดูแลของผู้มีอิทธิพล ชาวบ้านต่างเล่ากันว่าแต่ก่อนนั้นคนที่มาบุกเบิกที่ดินอยู่ก่อนจะเป็นเหล่าซุ้มเสือที่เป็นกองโจร จะมีอยู่สามซุ้มเสือ คือเสือส่ง เสือหิน และเสือรัตน์ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
แม่ประทวน บุญเรืองวัตน์ เล่าว่า“ตนเองได้เข้ามาตอน ประมาณ พ.ศ. 2518 แล้วได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหมู่ที่ 22 บ้านลานสอง ในปัจจุบัน เป็นบ้านสองหลังแรก ที่เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ก่อนที่จะมีคนย้ายเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ ซึ่งตอนที่เข้ามานั้นบริเวณตำบลแม่เปินแห่งนี้ ก็ได้มีคนเข้ามาอยู่ก่อนแล้วเป็นคนอีสานเช่นเดียวกัน โดยจะอยู่กันเป็นแบบหมู่บ้าน ห่างกันออกไปบางคนก็เข้ามาอยู่ก่อนนานมาก โดยชาวบ้านจะจับกลุ่มกันไว้เพื่อความปลอดภัย เพราะขณะนั้นมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลและโจรจำนวนมาก การที่จะเข้ามาหาพื้นที่ทำกินนั้นต้องบอกกล่าวและอยู่ใต้อิทธิพลของบรรดาเสือทั้งสามกลุ่ม และที่ดินทากินนั้นบ้างก็ซื้อต่อจากคนที่มาอยู่ก่อน บ้างก็ขอซื้อจากเสือ แต่จะจากเสือไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินแปลงนั้น อยู่ในเขตปกครองของเสือคนไหน ซึ่งที่ดินนั้นหากใครได้ซื้อที่ดินในราคาที่ถูกก็จะมีเจ้าของหลายต่อ ทำให้มีคนมาเก็บเงินจากคนที่ซื้อหลายคนมาก บางครั้งคนนี้เก็บไปแล้วคนนี้ก็มาเก็บต่อ ถ้าไม่ให้ก็โดนฆ่าจึงทำให้ชาวบ้านต้องยอมจ่าย แต่หากใครที่ซื้อที่ดินในราคาแพงหรือซื้อจากเสือโดยตรงก็จะไม่มีปัญหาอะไร จ่ายทีเดียวกับคนเดียวจบ และการที่มีซุ้มเสืออยู่ถึงสามซุ้มในพื้นที่นั้น แน่นอนว่าต้องมีการปะทะแย่งชิงที่ดินอาณาเขตและอิทธิพลกันอยู่แล้วตามสุภาษิตไทยที่ว่า เสือสองตัวอยู่ถ้าเดียวกันไม่ได้ แต่นี่มีถึงสามยิ่งหนักเข้าไปใหญ่”

โดยแม่บุญมา ยอดจันทร์ เล่าว่า“ตอนเข้ามาอาศัยในพื้นที่ครั้งแรกนั้น พอค่ำแล้วชาวบ้านก็จะรีบพากันปิดประตูบ้านแล้วเข้านอนกันเลยจะไม่ออกจากบ้าน เพราะทุกวันตอนเย็น ๆ ก็จะเริ่มได้ยินเสียงปืนแล้ว มันเป็นเสียงปืนที่เขายิงปะทะกันแย่งที่ดินกัน และชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นถ้าบ้านไหนมีลูกสาวสวย ๆ ก็จะรีบส่งลูกสาวไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่อย่างนั้นก็จะถูกเหล่าเสือจับไปทำเมีย พอเวลามีงานลูกน้องของกลุ่มเสือก็จะมาเกณฑ์เด็กสาวไปช่วยทำกับข้าวและเต้นรำวง ซึ่งนับว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงบ้านป่าเมืองเถื่อนมาก มีการเข่นฆ่ากันทุกวันทางการยังเข้ามาไม่ถึง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้มีการปราบปรามซุ้มเสือและหมดอำนาจลงก็คือ มีนักการเมืองคนหนึ่งเข้ามาหาเสียงแถวนี้ถูกตัดมือไปเพราะนิ้วมื้อนั้นเต็มไปด้วยแหวนทองแหวนเพชร หลังจากนั้นทางการก็เริ่มเข้ามามีทหารมาตั้งแคมป์ที่บริเวณท้ายหมู่บ้านตรงศาลปู่ตา หมู่ที่ 22 ในปัจจุบัน และเริ่มทาการปราบปรามต่อสู้กับเหล่าซุ้มเสือจนสำเร็จ ทั้งเสือส่ง เสือหิน และเสือรัตน์ตายกันทั้งหมด ชาวบ้านเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านทุกคนก็พากันไปทำไร่ทำนาตามปกติแล้วก็พบศพเต็มไปหมดในป่าระหว่างเดินทางไปนา”แม่ประทวน เล่าว่า“วันนั้นตนได้ไปหักข้าวโพดหักไปหักมาก็พบกับศพเสือรัตน์นอนตายอยู่ในป่าข้าวโพด ชาวบ้านบางคนไปหาหน่อไม้ก็พบศพเสือหินตายอยู่ในกอไผ่ ต่อมาไม่นานก็มีคนพบกับศพของเสือส่งที่อืดหนอนเจาะเต็มไปหมด”หลังจากที่ผู้มีอิทธิพลได้หมดไปนั้นพื้นที่ตำบลแม่เปินก็เริ่มสงบ ทางราชการเริ่มเข้ามาจัดการ มีถนนหนทางเข้ามาถึง แต่ก็ยังไม่ได้สะดวกสบายในการเดินทางเท่าใดนัก และต่อมาก็มีนายดิน พระอัมพร มาเป็นผู้ปกครองในบริเวณ ตำบลแม่เปิน โดยได้ทำการเข้ามาบุกเบิกตั้งบ้านเรือนในบริเวณบ้านโนนสมบูรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งตอนแรกนั้นนายดิน พระอัมพร เป็นกำนันในเขตอำเภอลาดยาว แต่พอทางการเข้าจัดการในพื้นที่ตำบลแม่เปิน จึงได้จัดให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ของอำเภอลาดยาว โดยเรียกชื่อตามลำน้ำแม่เปิน ที่ปัจจุบันแห้งขอดตื้นเขินหมดแล้ว ต่อมาก็มีผู้คนอพยพหลั่งไหลเข้ามาจากที่ต่าง ๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนจากภาคอีสาน ซึ่งคนที่อพยพมาในช่วงหลัง ๆ นี้จะต้องซื้อที่ดินกับผู้ที่มาจับจองอยู่ก่อน

โดยสรุปสาเหตุที่ชาวบ้านพากันอพยพเข้ามานั้นชาวบ้านต่างให้เหตุผลคล้ายกัน คือ ประชากรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เพิ่มมากขึ้นและหนาแน่น ทำให้พื้นที่ทากินไม่เพียงพอ ทั้งยังเกิดความแห้งแล้ง บางคนก็เข้ามาเพราะหนีจากน้ำท่วมที่เป็นผลมาจากการสร้างเขื่อน บ้างก็เพื่ออยากให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและบางคนก็มาตามคำบอกล่ำคำชวนของญาติพี่น้องที่มาอยู่ก่อนว่าพื้นที่ตรงบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ ทำไร่ทำนาได้เยอะกว่าที่ที่ตนย้ายจากมา ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นการอพยพย้ายถิ่นของชาวแม่เปินนั้น ได้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคพัฒนาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2506) รวมทั้งจากการประกาศใช้แผนพัฒนาภาคอีสานโดยเฉพาะที่เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2505 เป็นต้นมา

ภูมิบ้านนามเมือง

ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน

คำว่า“แม่เปิน”จากการสันนิษฐานมีที่มาจากหลายสาเหตุและต่างแหล่งที่มา โดยสรุปได้ดังนี้

(1) ที่มาของชื่ออำเภอตาม คลองแม่เปินหรือลำน้ำแม่เปิน (ปัจจุบันเรียกชื่อเป็น คลองโพธิ์)

(2) จากคำสันนิษฐานของผู้เฒ่า ผู้อาวุโสในพื้นที่ กล่าวว่าในฤดูฝน น้ำจะหลากจากบริเวณป่าเขาของเขาแม่กะสี ลงมายังน้ำตกแม่กะสีและลงมาสู่ “คลองแม่เปิน”หรือ “แม่เปิน” (ปัจจุบันเรียกชื่อเป็น คลองโพธิ์) มีปริมาณน้ำที่มากจนล้นตลิ่งท่วมทุ่ง โดยสัมพันธ์กับคำภาษาอีสาน คำว่า เปิน ที่มีความหมายว่า กระฉอก ล้น แฉลบ เช่น น้ำมันเปินออกมา และสอดคล้องกับคำว่า“แม่เปิน”

คลองโพธิ์เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และมีคลองต่าง ๆ เป็นคลองซอย เช่น คลองห้วยหวาย คลองห้วยเหล็ก คลองยาง และคลองคำย คลองโพธิ์นั้นมีต้นกาเนิดมาจากเทือกเขาแม่กะสี ไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่ที่ 8, 9, 10, 13, 18, 19 และ 20 เข้าเขตตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง คลองยาง คลองห้วยเหล็ก และคลองค่าย

เขื่อนคลองโพธิ์ หรือ อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์สร้างขึ้นในปี 2554 ด้วยงบในการก่อสร้างทั้งหมด 359,000,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใน อำเภอแม่เปิน อำเภอชุมตาบง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ทำให้ชาวบ้านสามารถนำสัตว์น้ำที่จับได้ไปเป็นอาหารในครัวเรือน และจำหน่ายที่ตลาดนัดเป็นประจำ โดยใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบพื้นบ้าน สัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายในตลาดเป็นประจำได้แก่ ปลานิล ปลายี่สก ปลากราย ปลานวล ปลาช่อน ปลาดุก กบ หอย กุ้งฝอย กุ้งก้ามกราม ทำให้ชาวบ้านมีอาหาร สร้างอาชีพและรายได้

สถานที่ตั้ง
ตำบล แม่เปิน อำเภอ แม่เปิน จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่