ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามของตำบลหัวสำโรง เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเรียกตัวเองว่า ชาวลาวเวียง การเผาข้าวหลามจะเผาในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๓ พอวันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะพากันขึ้นเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองบนเขาดงยาง(วัดสุวรรณคีรี) จะนำข้าวหลามไปถวายแด่พระสงฆ์ และเป็นเสบียงระหว่างเดินทาง
อำเภอแปลงยาว สภาวัฒนธรรมอำเภอ/เทศบาล/อบต./สถานศึกษา/ส่วนราชการทุกส่วน และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม เป็นงานประจำปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 คือ เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานประเพณีท้องถิ่น โดยงานจะเริ่มในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ณ ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านหัวสำโรง บริเวณโรงเรียนชุมชนวัดหัวสำโรง ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มตั้งแต่ 06.00 น. เป็นต้นไป ประชาชนจากทุกหมู่บ้านในตำบลหัวสำโรงจะช่วยกันเผาข้าวหลามเตาเผายาวที่สุด มีการประกวดสุดยอดข้าวหลาม การแข่งขันกินข้าวหลาม การแสดงดนตรีไทย การแสดงของศิลปินพื้นบ้าน และการแสดงและจำหน่ายสินค้า อีกทั้งยังมีการแข่งขันจับปลา และแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ภาคค่ำมีงานมัจฉามหากุศลเพื่อการศึกษาของโรงเรียนวัดหัวสำโร ง การแสดงดนตรีของนักเรียน การแสดงรำวงพื้นบ้าน วันที่สอง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในเวลา 09.00 น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรที่วัดหัวสำโรง จากนั้น จะมีขบวนแห่ผ้าป่าสามัคคี ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงาม ประกอบด้วย ขบวนรถวงมโหรี ขบวนรถข้าวหลาม ขบวนม้ามงคล ขบวนรถอีแต๋นท้องถิ่น มอเตอร์ไซต์โบราณ มอเตอร์ไซต์ชอปเปอร์ เดินทางไปทอดผ้าป่าและนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ณ วัดเขาสุวรรณคีรี ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม