วัดจันทรังษีฉิมาวาส เดิมชื่อวัดศรีสำราญ เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมตั้งอยู่ที่บ้านศรีสำราญ หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง ในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำสงครามกับเมืองเชียงตุง ท่านปู่ (ต้นสกุลจันทร์เรือง) ได้อพยพพาภรรยา คือ ย่าฉิม ครอบครัวและข้าทาสบริวารหนีศึกจากเมืองหลวงทางเรือมุ่งหน้าทางทิศเหนือ เมื่อถึงบ้านท่าเสด็จก็ได้แยกกันเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มของย่าฉิมได้เดินทางมายังพำนักที่บริเวณบ้านศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง และรอฟังข่าวจากท่านปู่ว่าจะให้กลับเมืองหลวงได้เมื่อใด แต่เมื่อสงครามเชียงตุงสงบท่านปู่ก็ได้อพยพมาอยู่กับย่าฉิมที่บ้านศรีสำราญ เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้คนไทยทุกคนมีนามสกุล ท่านปู่ได้ตั้งนามสกุลว่า จันทร์เรือง และถือเป็นต้นตระกูลจันทร์เรืองสืบมาจนปัจจุบัน ท่านปู่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านศรีสำราญจนสิ้นอายุไขของท่าน เมื่อท่านปู่จากไปย่าฉิมก็หันไปเข้าวัดทำบุญฟังธรรมรักษาศีลที่วัดศรีสำราญเป็นประจำ จนเมื่อปีพุทธศักราช 2442 ย่าฉิมซึ่งมีอายุมากขึ้น ประกอบกับวัดอยู่ห่างไกลเกินไปไม่สามารถเดินทางได้สะดวก หมื่นบำรุงโยธี บุตรชายคนโตของย่าฉิมจึงคิดที่จะทำการบูรณะวัดศรีสำราญที่มารดาไปทำบุญเป็นประจำ และเพื่อให้มารดาได้เดินทางไปวัดทำบุญฟังธรรมได้สะดวกขึ้นท่านจึงได้หาทำเลเพื่อสร้างวัดใหม่ ซึ่งคุณยายจันทร์ น้องสาวคุณย่าฉิมก็ได้ยกที่นาจำนวน 18 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดศรีสำราญเดิมไปทางทิศเหนือให้ แรกเริ่มหมื่นบำรุงโยธีได้สร้างที่พักสงฆ์ที่บริเวณนี้ก่อน จากนั้นก็ได้ย้ายวัดศรีสำราญเดิมมาอยู่ ณ ที่แห่งใหม่นี้แต่ก็ยังคงใช้ชื่อวัดศรีสำราญอยู่
ต่อมาหมื่นบำรุงโยธีได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณย่าฉิม และคุณยายจันทร์ และให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงที่มาของตระกูลจันทร์เรือง โดยนำคำว่า จันทร์ จากชื่อของคุณยายจันทร์ และคำว่า ฉิม จากชื่อของคุณย่าฉิม มาตั้งเป็นชื่อวัดว่า วัดจันทรังษีฉิมาวาส แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกกันติดปากว่า วัดศรีสำราญ อยู่จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันวัดจันทรังษีฉิมาวาส หรือวัดศรีสำราญมีพระสมุห์เสถียร กตปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส