เรือน คติความเชื่อของภาคเหนือ
• ดูลักษณะที่ดิน ตามคติความเชื่อแล้วก่อนสร้างเรือนจะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกบ้านให้ตรงตามตำราดูลักษณะที่ดินโดยดูถึงความสูงต่ำของระดับดินบริเวณปลูกสร้างรูปทรงที่ดิน ตลอดจนเนื้อที่ทั้งหมดรวมทั้งสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอีกด้วย
• มื้อจั๋นวันดี สำหรับชาวเหนือก่อนจะปลูกเรือน ฤกษ์งามยามดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเชื่อกันว่า หากปลูกเรือนใน "มื้อจั๋น วันดี" คือฤกษ์ที่เหมาะสมแล้วผู้อยู่อาศัยย่อมมีความสุขความเจริญและอยู่เย็นเป็นสุขและครอบคลุมถึงการหาฤกษ์ยามดีในขั้นตอนการปลูกเรือนอื่น ๆ เช่น เข้าป่าหาไม้มาทำเสาเรือน ขุดหลุมฝังเสา ยกเสา เป็นต้น
การเข้าป่าตัดไม้ทำเสา ตามคติโบราณจะกำหนดช่วงเวลาที่เป็นมงคลเอาไว้ว่าควรจะตัดไม้ในเดือนใดเมื่อตัดไม้แล้ว หากไม้ล้มไปในทิศใดจะมีข้อความทำนายว่าควรนำเอามาทำเป็นเสาเรือนหรือไม่และหากไม้ไปพาดกับ
ต้นไม้อื่นไม่ควรนำมาสร้างเรือน
• พิธีเสี่ยงทายในการตั้งบ้านใหม่ เพื่อหาบริเวณปลูกเรือนที่เป็นมงคล โดยวิธีเสี่ยงทาย ใช้ใบฝาแป้ง ๘ ใบ ห่อของ ๘ อย่าง จัดพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน นำไปยังที่ที่ต้องการจะปลูกบ้านตั้งเรือนเสี่ยงทายจับห่อสิ่งของ ๑ ห่อ
เมื่อทำพิธีในบริเวณนั้นได้ห่อที่ไม่ดีก็ย้ายเสี่ยงทายในบริเวณอื่นๆสิ่งของเสี่ยงทายนั้นเป็นของที่มีสัญลักษณ์ทั้งสิ้นและมีความหมายถึงการดำเนินชีวิต ภายหลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนที่ปลูกในบริเวณที่เสี่ยงทายแล้วอาทิ ถ้าหากได้ห่อดิน กระทำสิ่งใดจะสัมฤทธิ์ผล ได้ห่อข้าวเปลือก จักอยู่สุขสวัสดิ์ ได้ห่อลูกหิน จักอยู่ดีมีสุข ได้ห่อดอกไม้ จักมีชื่อเสียง ได้เกียรติยศ เป็นต้น
• โฉลกเสาเรือน เมื่อหาเสาเรือนครบ ช่างไม้จะเป็นผู้ปรุงเครื่องเรือน โดยจะกำหนดความสูงและขนาดของเรือน ขณะตัดเสาก็กล่าวคำโฉลกให้ได้คำที่ดีเป็นสิริมงคล
• พิธีขุดหลุมเสาเรือน ก่อนจะขุดหลุมเสาเรือนต้องทำพิธี ขอที่ดินกับพญานาค เพราะมีความเชื่อกันว่า พญานาคเป็นสัตว์มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดินอำนวยความสุขหรือภัยพิบัติให้มนุษย์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะทำการอันเป็นมงคลเกี่ยวกับการสร้างบ้านปลูกเรือนจะต้องบูชาเซ่นสรวงผู้ที่เป็นเจ้าที่ดินเสียก่อนแล้วจึงทำพิธีขุดหลุมเสาเรือนตามทิศที่เหมาะกับวัน
• พิธีตัดเสาข่มนางไม้ การตัดไม้เสามาทำเป็น "เสามงคล" หรือ "เสานาง" นั้น เพื่อจะให้เสามงคลเป็นเสาที่มีอาถรรพณ์ และศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลสำหรับตัวเรือนจริง ๆ และกันมิให้เสาตกมัน จึงมีการทำพิธีตัดและเกลาเสา การทำพิธีตัดเสานั้น ต้องหา "สล่า" หรือช่งไม้ที่มีความเข้าใจชำนาญในทางศาสตรเภท คือ การแก้เสนียดจัญไร อันเกิดจากไม้เสานั้น ต้องมีการตั้งขันคือการยกครูของภาคกลางเมื่อตั้งขันแล้วสล่าหรือปู่อาจารย์ก็ทำพิธีตัดเสาตามตำราคือ เสกขวานหรือมีด ที่จะใช้ฟันก็ว่าคาถากำกับด้วยเป็นการข่มนางไม้ เมื่อเสร็จพิธีก็เอาไม้นั้นมาทำเป็นเสามงคล
หรือเสาเอก
• พิธีปกเฮือน ครั้นได้ฤกษ์จะลงมือปลูกบ้านวันใด จึงทำพิธีปลูกบ้านหรือ "ปกเฮือน" การปลูกเรือนมักเริ่มทำกันแต่เช้าตรู่ ทำพิธียกเสามงคลและเสานางตลอดจนเสาอื่น ๆ ที่ได้เตรียมไว้ตรงปากหลุมแล้วช่างหรืออาจารย์ จะทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เพื่อให้การทำงานครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี
• พิธีทำขวัญเสามงคล เมื่อทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เสร็จเรียบร้อยจึงทำ " พิธีทำขวัญเสามงคล" ตามตำราโบราณถือว่าเสามลคลเป็นพญาของเสาทั้งปวง เสามงคลเป็นเสาพ่อ เสานางเป็นเสาแม่อยู่คู่กัน จึงมีพิธีเรียกร้องขวัญไว้ คำเชิญขวัญนิยมเลือกหาผู้ที่จะว่าเชิญเชิญขวัญได้ไพเราะเตรียมเครื่องเพื่อประพรมและผูกเสามงคลเมื่อถึงฤกษ์ ยกเสามงคล เป็นเสาแรกและ ยกเสานาง เป็นเสาที่สอง
• พิธีฝังเสามงคลหรือเสานาง ให้คนที่มีชื่อ แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น " "มาเป้นผู้ช่วยหามเสาและยกเสาลงหลุม เพื่อจะได้ เป็นมงคลแก่เจ้าของบ้าน ก่อนที่จะฝังหา ใบเต๊า ใบหนุน ใบดอกแก้ว ใบตัน มากรองหลุมทุกหลุมเพื่อเป็นคติว่าจะได้ช่วยค้ำจุนให้บ้านเรือนหลังนั้น มีความเจริญรุ่งเรือง
เสามงคลและเสานาง นี้ คนโบราณถือมากในเรื่องการปรนนิบัติรักษา และเชื่อว่าจะต้องรักษาความสะอาดอยู่เสมอผู้ใดจะปัสสาวะรดหรือทำสกปรกไม่ได้ บางแห่งจะมีหิ้งติดไว้ทางหัวนอนและมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาด้วย
เมื่อเสร็จพิธีปลูกเรือนแล้วจากนั้นสัก ๓ หรือ ๗ วัน จึงทำการมุงหลังคาและส่วนอื่น ๆ และดูฤกษ์ยามเพื่อขึ้นบ้านใหม่
มานพ ชื่นภักดิ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
อ้างอิง ; เรือน - คติความเชื่อของภาคเหนือ.,
(ระบบออนไลน์) http://culturelib.in.th., ๒๕๕๔.