ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 40' 41.3227"
15.6781452
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 6' 37.2668"
104.1103519
เลขที่ : 71177
ที่ว่าการอำเภอพนมไพร
เสนอโดย ทุ่งกุลา กุลา วันที่ 22 พฤษภาคม 2554
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 27 กรกฎาคม 2555
จังหวัด : ร้อยเอ็ด
2 1309
รายละเอียด
อำเภอพนมไพรเป็นเมืองที่มีประวัติ ความเป็นมายาวนานจากหลักฐานทางด้านเอกสาร (แก้ว ทิพย์อาสน์. ๒๕๓๕ และพิสมัย แสงจันทร์เทศ. ๒๕๓๖ : ๓๑) และประวัติบอกเล่าอำเภอพนมไพร มีพัฒนาของการสร้างบ้านแปงเมือง แบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือ ๑. สมัยบ้านจะแจ หรือบ้านแก ๒. สมัยเมืองแสนล้านช้าง ๓. สมัยบ้านเมืองแสน ๔. สมัยเมืองพนมไพรแดนมฤค ๑. สมัยบ้านจะแจ หรือ บ้านแก บริเวณอำเภอพนมไพรเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณ ชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง คือ ชาวข่าระแค ซึ่งเป็นกลุ่มชนจากแถบอีสานตอนใต้ ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายทุ่งใหญ่ด้านทิศใต้ของตัวเมืองในปัจจุบัน ชาวข่าตั้งชื่อเมืองของตนว่า เมืองยางคะบุรี (ปัจจุบันคือ บ้านโนนม่วง ตำบลนานวล) ต่อมาเมื่อมีพลเมืองมากขึ้น จึงมีการขยายบ้านเมืองมาอยู่ทางดอนทิศเหนือเมืองเดิมและตั้งชื่อหมู่บ้านที่ขยายมาอยู่ใหม่นี้ว่า บ้านจะแจ ซึ่งเป็นภาษาของชาวข่าและบ้านจะแจนี้เป็นจุดกำเนิดของ อำเภอพนมไพร เมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่แหลมสุวรรณภูมิ พระพุทธรักขิตสาวกของพระมหากัสสปะ ได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองอินทะปัฐถานครจนเจริญรุ่งเรือง แล้วมอบหมายให้สาวกของพระองค์ คือ พระครูมหา รัตนชัยยะกับพระครูมหาปะสมัน เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองมรุกขนคร เมื่อพระครูทั้งสองเดินทางผ่านมาบริเวณบ้านจะแจจึงหยุดพักค้างคืน ชาวบ้านจะแจเห็นพระสงฆ์ จึงพากันมาถวายจังหัน(ภัตราหารเช้า) และฟังธรรมพร้อมกับนิมนต์พระสาวกทั้งสองให้อยู่สั่งสอนชาวบ้านต่อไป พระครูมหารัตนชัยยะจึงให้ พระครูมหาปะสมัน อยู่ที่บ้านจะแจก่อนตามที่ชาวบ้านนิมนต์ และได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่พำนัก ชื่อ วัดปะสมัน (วัดกลางอุดมเวทย์ในปัจจุบัน) เมื่อลูกหลานชาวบ้านจะแจได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากแล้ว พระครูมหาปะสมันจึงเดินทางไปเมืองมรุกขนครต่อไป ชนกลุ่มที่สองทีอพยพเข้ามาบริเวณบ้านจะแจ คือ ชาวลาว เมื่อพระเจ้าจันทบุรีสิ้นพระชนม์ เชื้อพระวงศ์กับอำมาตย์แย่งสมบัติ พระครูลูกแก้ว หรือพระครูยอดแก้ว หรือพระครูหลักธรรม เป็นผู้สำเร็จทางวิปัสนากรรมฐาน ได้รับความเคารพยำเกรงนับถือจากชาวเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองเวียงจันทน์เกรงว่าจะเป็นภัยต่อตนจึงหาทางกำจัดพระครูลูกแก้ว พระครูลูกแก้วจึงพาญาติโยมสานุศิษย์หนีออกจากเมืองเวียงจันทน์ ในจำนวนนี้มีท้าวผุย ท้าวผาย สองพี่น้องซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองเวียงจันทน์องค์ก่อนตามมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านจะแจชาวบ้านเห็นพระภิกษุและญาติโยมจำนวนมากจึงสอบถามข่าวคราวที่เดินทางมานั้น พระครูลูกแก้วเล่าเหตุการณ์และความเป็นมาของการเดินทางให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านสงสารจึงนิมนต์ให้อยู่วัดปะสมัน ส่วนญาติโยมสานุศิษย์ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ตามสะดวก ชาวลาวและชาวข่าจึงเป็นเสมือนเครือญาติพึ่งพาอาศัยกัน จำนวนครอบครัวลาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงมีชื่อเรียกเพี้ยนตามภาษาลาวว่า บ้านแก ปัจจุบัน คือ คุ้มแก ๒. สมัยเมืองแสนล้านช้าง ต่อมาหัวหน้าชาวข่าได้ถึงแก่กรรม พระครูลูกแก้ว จึงตั้งให้ท้าวผุยเป็นหัวหน้าหมู่บ้านสืบแทน ชาวบ้านต่างถิ่นอพยพมาพึ่งบุญบารมีของพระครูลูกแก้วมากขึ้น จนบ้านแกมีพลเมืองและครัวเรือนมากพอที่จะสร้างเป็นเมืองได้ พระครูลูกแก้ว ท้าวผุย ท้าวผาย จึงปรึกษากับชาวบ้านว่า ดอนบ้านแกเป็นดอนใหญ่พอที่จะสร้างบ้านเมืองได้ แต่หน้าฝนน้ำชีไหลหลากมาท่วม หน้าแล้งน้ำแห้งจึงควรขุดหนองบึงรอบดอนเอาดินมาถมให้สูงและให้ถมเป็นรูปจระเข้ เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่มีอำนาจทั้งทางบกและทางน้ำ สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ พื้นที่ของเมืองจึงเป็นรูปจระเข้นอนคว่ำหันหัวไปทางทิศตะวันตก การถมพื้นที่นี้ทำให้เกิดหนองบึงขึ้นรอบ ๆ เมืองหลายแห่ง คือ ทิศเหนือ หนองขวัว หนองเขียน ทิศตะวันออก หนองสม ทิศตะวันตก หนองฮี หนองหว้า หนองหลุบ หนองแนบ ทิศใต้ หนองไผ่ หนองดินแดง หนองหิน หนองศิลาเลข กลางเมือง หนองผำ หรือสระโชติเสถียร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีขนส่ง) หนองสระเจ้าปู่หรือสระขี้ลิง เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว พระครูลูกแก้ว จึงจัดเครื่องราชบรรณาการ มีผ้าขาว ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ช้างพลาย ช้างพัง จำนวนหนึ่ง ให้ท้าวผุย ท้าวผาย จารย์สมศรีคุมไพร่พล ชาวบ้านแกนำไปถวายกษัตริย์เวียงจันทน์และขอเป็นเมืองขึ้น เจ้านครเวียงจันทน์ จึงตั้งบ้านแกเป็น เมืองแสน และให้เรียกว่า เมืองแสนลานช้าง หรือ ล้านช้าง ตามชื่ออาณาจักรล้านช้างอันมีเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวง ให้ท้าวผุยซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์เวียงจันทน์เป็นเจ้าเมือง พระราชทานชื่อว่า พระยาชัยแสนสุริยวงศ์ ให้ท้าวผายเป็นอุปฮาด จารย์สมศรี เป็นราชวงศ์ ด้านเมืองยางคะบุรี ซึ่งเป็นเมืองของชาวข่ากลุ่มแรกเห็นว่าชาวลาวเมืองแสนไม่ได้ส่งส่วยให้เมืองยางคะบุรี จึงให้ทหารไปทวงส่วย พระยาชัยแสนสุริยวงศ์ไม่ยอม เกิดรบกันขึ้น ทัพข่าแพ้ตกอยู่ใต้อำนาจของเมืองแสน เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย พระครูลูกแก้ว และพระยาชัยแสนสุริยวงศ์ จึงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปะสมัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโพธิ์ เมื่อสิ้นสมัยพระครูลูกแก้วและพระยาชัยแสนสุริยวงศ์แล้ว เจ้านครเวียงจันทน์จึงตั้งท้าวผายเป็นเจ้าเมืองสืบแทน และตั้งบุตรหลานของพระยาชัยแสนสุริยวงศ์เป็นเจ้าเมืองต่อมาอีกหลายชั่วคน ในสมัยนี้นับว่าเป็นสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ๓. สมัยบ้านเมืองแสน สมัยกรุงธนบุรีของไทย เวียงจันทน์สูญเสียอำนาจตกอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรี พลเมืองของเมืองแสนล้านช้างถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพของเจ้าพระยาจักรี (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พร้อมกับเจ้าเมือง บ้างก็หลบหนีสงคราม สภาพของเมืองแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง ขาดจากการเป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดการบ้านเมืองทางเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์เรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเมืองแสนเป็นกองนอกให้เพียมหาเสนากับเพียขุนอาจ เป็นหัวหน้ากองทำบัญชีทางทหารนำเงินค่ารัชชูปการส่งต่อข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์ ลดฐานะจากเมืองเป็นบ้าน เรียกว่า บ้านเมืองแสน อยู่ในเขตการปกครองของนครจำปาศักดิ์ ในระหว่างนี้ได้มีผู้อพยพจากเมืองศรีสะเกษ มีท้าวแสนเมืองเป็นหัวหน้ากลุ่มได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านโปงริมฝั่งแม่น้ำชี แต่เห็นว่าทำเลไม่ค่อยเหมาะสมนัก จึงอพยพผู้คนส่วนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเมืองแสน ท้าวแสนเมืองได้นำชาวบ้านพัฒนาบ้านเมืองให้กลับสู่สภาพชุมชนอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งเดินทางมาจากเมืองมรุกขนคร ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ พระภิกษุรูปนี้มีความรู้ทางไสยศาสตร์และพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน สามารถรักษาคนป่วยจากโรคต่าง ๆ ได้ ประชาชนจึงหลั่งไหลมารักษา และเมื่อหายขาดแล้วจึงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองแสนทำให้บ้านเมืองแสนมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองจำปาศักดิ์และเมืองสุวรรณภูมิ ได้แบ่งเขตแดนรับผิดชอบทางการปกครอง บ้านเมืองแสนได้เข้ามาอยู่ในเขตการปกครองของแขวงสุวรรณภูมิ ๔. สมัยพนมไพรแดนมฤค พ.ศ. ๒๔๑๕ พระยารัตนวงศา (คำผาย) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม ยังมิได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองสืบแทน จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๐ พระยาอำมาตย์ธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ไปราชการที่กรุงเทพฯราชวงศ์ (คำสิงห์) ได้ติดตามลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง ให้ราชวงศ์ (คำสิงห์) เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ส่วนหลวงรัตนวงศา (บุญตา) ควรแยกให้เป็นเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะบ้านโปงแขวงเมืองสุวรรณภูมิเป็นเมือง มโนไพรแดนมฤค ตั้งหลวงรัตนวงศา (บุญตา) เป็นพระดำรงฤทธิไกร และให้เป็นเจ้าเมือง มโนไพรแดนมฤค ต่อมาข้าหลวงต่างพระองค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์ เห็นว่าเมืองโนไพรแขวงเมืองสุวรรณภูมิ มีชื่อพ้องกับเมืองมโนไพรแขวงเมืองจำปาศักดิ์ จึงกราบทูลขอเปลี่ยนเมืองมโนไพรแขวงเมืองสุวรรณภูมิใหม่และทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เมืองพนมไพรแดนมฤค พระราชทานเครื่องยศตามธรรมเนียม ดังปรากฏในหลักฐานว่า …….ในปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ (พ.ศ. ๒๔๒๑) โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงรัตนวงศา (บุญตา) เป็นพระดำรงฤทธิไกรเจ้าเมือง พนมไพรแดนมฤค ยกฐานะบ้านโปงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานถาดหมากปากกลีบบัวถมตะทอง เครื่องในทอง ๑ คนโฑทอง ๑ กระโถนถม ๑ กระบี่บั้งทอง ๑ สัปทนปัสตูแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรสีทับทิมคิดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศ............ พระราชดำรงฤทธิไกร (บุญตา) ได้พาครอบครัวไปตั้งเมืองพนมไพรแดนมฤค ที่บริเวณบ้านเมืองแสน ห่างจากบ้านโปงประมาณ ๓๐๐ เส้น ทั้งท้าวสุวรรณราชเป็นว่าที่อุปฮาด หลวงราชเป็นเพียเมืองจัน หลวงศรีวิเศษเป็นเพียเมืองปาว ขุนอาจเป็นเพียเมืองขวา ดูแลราชการเมืองพนมไพรแดนมฤค พ.ศ. ๒๔๓๑ พระยารัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชดำรงฤทธิไกร (บุญตา)ไปเป็นข้าหลวงช่วยกำกับราชการที่เมืองสุวรรณภูมิ ให้ท้าวสุวรรณราชเป็นเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤคสืบแทน เมืองพนมไพรแดนมฤคมีเจ้าเมือง ๓ คน คือ ๑. พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) พ.ศ. ๒๔๒๑ - ๒๔๓๑ ๒. ท้าวสุวรรณราช (หลวงอุปฮาด) พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๔๔ ๓. ท้าวโพธิสาร วงศ์ ณ รัตน์ พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๕๕ พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้น เปลี่ยนการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล จึงให้เมืองพนมไพรแดนมฤคขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ด และเป็นอำเภออยู่เขตปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ขนานนามใหม่โดยให้ตัดคำว่า แดนมฤค ออกเหลือ เป็น อำเภอพนมไพร ตราบเท่าทุกวันนี้ ************ คำขวัญอำเภอพนมไพร พนมไพรเมืองแสนล้านช้าง ต้นยางใหญ่สระขี้ลิง พระธาตุมิ่งขวัญรวมใจ บุญบั้งไฟเพ็ญเดือนเจ็ด รสเด็ดข้าวปุ้นซาว หาดทรายขาวมากปลาชี ผ้ามัดหมี่ไหมลือนาม
สถานที่ตั้ง
ที่ว่าการอำเภอพนมไพร
หมู่ที่/หมู่บ้าน ๓ คุ้มศิลาเลข
ตำบล พนมไพร อำเภอ พนมไพร จังหวัด ร้อยเอ็ด
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ที่ว่าการอำเภอพนมไพร
หมู่ที่/หมู่บ้าน ๓ คุ้มศิลาเลข
ตำบล พนมไพร อำเภอ พนมไพร จังหวัด ร้อยเอ็ด
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่