ความเป็นมาประเพณีบุญบั้งไฟวัดแพะโคก
บ้านแพะโคก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลผึ้งรวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดยมีประเพณีวัฒนธรรมหลายๆอย่าง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันโดยประเพณีที่ชาวบ้านแพะโคกรู้จักกันดี คือประเพณีไท-ยวน และประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งดั้งเดิมนั้นการทำบั้งไฟของบ้านแพะโคกเริ่มมาจากบ้านผึ้งรวง(ผึ้งลาว) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ทิศตะวันออกของบ้านแพะโคก ตามประวัติความเป็นมาชาวบ้านผึ้งรวงในอดีตนั้นเป็นชาวลาวอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ล่องเรือตามแม่น้ำป่าสักเรื่อยมาแล้วขึ้นฝั่งตั้งรกรากที่บ้านผึ้งรวงในปัจจุบัน และมีการนำประเพณีการทำบั้งไฟมาด้วย โดยมีพระอาจารย์เหง้า พรหมจรูญ อดีตเจ้าอาวาสวัดผึ้งรวง เป็นรูปแรกที่ทำบั้งไฟ ครั้งแรกจุดที่วัดผึ้งรวงมาระยะหนึ่ง เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้นได้ย้ายมาจุดที่วัดแพะโคก ซึ่งมี พระครูสุนทรสิริคุณ (คำตัน คมฺภีโร)อดีตเจ้าอาวาสวัดแพะโคก ได้รับถ่ายทอดการทำบั้งไฟเมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่ผ่านมา โดยมีการชักชวนคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านมาช่วยกันทำเริ่มตั้งแต่การทำดินประสิว การบรรจุอัดบั้งไฟ เป็นต้น (ปัจจุบัน มีพระสมุห์สมหวัง ปสนฺโน ได้นำพาญาติโยมสืบสานประเพณีนี้ไว้) ส่วนประกอบที่สำคัญของบั้งไฟมี ๓ ส่วน คือ เลาบั้งไฟ,หางบั้งไฟ และ ลูกบั้งไฟซึ่งในอดีตนั้นก็เป็นการทำกันเฉพาะในหมู่บ้านเพื่อจุดเสี่ยงทายก่อนที่ชาวบ้านจะทำไร่ทำนากันว่าปีนี้ฝนฟ้าจะตกตามฤดูกาลหรือไม่ สภาวัฒนธรรมอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ,สภาวัฒนธรรมตำบลผึ้งรวง ,องค์การบริหารส่วนตำบลผึ้งรวง กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน ได้มีการริเริ่มให้จัดงานระดับอำเภอ จนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมกันในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งในปี ๒๕๕๒ จังหวัดสระบุรี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสระบุรี เพื่อให้การจัดงานบุญบั้งไฟ อันเป็นประเพณีหนึ่งเดียวนี้ เป็นการจัดงานระดับจังหวัด และในปีนี้ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสระบุรี และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลผึ้งรวง
ระยะการจัดงานประเพณีบั้งไฟบ้านแพะโคก จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม หรือ มิถุนายน ของทุกปี