วัดตึกคชหิรัญศรัทธาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑ หมู่ ๗ ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินเป็นที่ตั้งวัด ๕ ไร่ ๓ งาน ๗๗ ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ติดกับที่ดินตั้งวัด ๑๐ ไร่เศษ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำน้อย วัดตึกคชหิรัญฯ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ วัดตึก เป็นคำเรียกของคนทั่วไปในอำเภอผักไห่ ที่ได้ชื่อว่าวัดตึกนั้น เพราะก่อนที่จะมาเป็นวัดนั้น สถานที่ตั้งวัดแห่งนี้เดิม ผู้เป็นเจ้าของบ้านมีนามว่า หลวงอภัยเภตรา(ช้าง) อดีตนายอำเภอผักไห่ (เสนาใหญ่) และนายอภัยเภตรา(เงิน) ได้สร้างบ้านเป็นตึกแบบเก๋งจีน (ประมาณ พ.ศ.๒๔๑๕) คนทั่วไปพากันเรียกว่าบ้านตึก ท่านทั้งสองได้ปกครองบ้านตึกเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๔๓๗ หลวงอภัยเภตรา(ช้าง) ป่วยหนักและรู้ตัวว่าคงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน จึงได้ปรึกษากับภรรยา คือนางอภัยเภตรา(เงิน) ได้พิจารณาเห็นว่าบรรดาบุตรธิดาทั้งหลายซึ่งมีจำนวน ๑๒ คน คงจะไม่สามารถปกครองบ้านตึกนี้ได้ จึงเกิดศรัทธาพร้อมใจกันอุทิศบ้านตึกพร้อมที่ดิน จำนวน ๕ ไร่ ๓ งาน ๗๗ ตารางวา ยกให้เป็นวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ วัดนี้จึงมีชื่อตามบ้านตึกนี้ว่า วัดตึก เมื่ออุทิศให้เป็นวัดแล้วอึก ๕ วันต่อมา หลวงอภัยเภตรา(ช้าง) ก็ได้ถึงแก่มรณกรรม รวมอายุได้ ๖๓ ปี คำว่า “คชหิรัญ” หรือวัดตึกคชหิรัญ เป็นพระนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง) รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดตึกนี้เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๕๑ ทรงมีพระกระแสรับสั่งถามว่าวัดนี้ใครเป็นผู้สร้าง ได้มีผู้กราบทูลว่า หลวงอภัยเภตรา(ช้าง) และนางอภัยเภตรา(เงิน) เป็นผู้มีจิตศรัทธายกบ้านให้เป็นวัด พระองค์ทรงโสมนัสและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พระราชทานต่อท้ายวัดตึกว่า คชหิรัญ จึงเป็นชื่อพระราชทานว่า วัดตึกคชหิรัญ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แด่ผู้เป็นเจ้าของบ้านพร้อมกับที่ดินที่เป็นวัดตั้งแต่วันที่ ๒ถ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา พระพุทธเจ้าหลวง นอกจากจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินและพระราชทานนามวัดแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศถวายแด่พระครูวินัยธรรมอ่ำ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตึกคชหิรัญ ในขณะนั้นให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามว่า “พระครูสุทธาจารวัตร” อีกด้วย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ วัดตึกคชหิรัญได้มีคำสร้อยต่อท้ายว่า สุทธาวาศ จึงเป็นวัดตึกคชหิรัญสุทธาวาศ ซึ่งมีหลักฐานจารึกชื่อไว้ที่หน้าบันศาลาท่าน้ำ คำว่า สุทธาวาศ คงเป็นพระครูสุทธาจารวัตร เป็นผู้ต่อเติม และเมื่อพระครูสุทธาจารวัตรมรณภาพแล้ว คำว่า สุทธาวาส ได้ถูกยกเลิกไปคงเป็นวัดตึกคชหิรัญเหมือนเดิม คำว่า ศรัทาราม ซึ่งเป็นคำสร้อยต่อเติมท้ายคชหิรัญนั้น คงเป็นท่านเจ้าคุณพระอุดมพิทยากร เป็นผู้ต่อเติม เพราะคำว่า ศรัทธารามมีการต่อเติมเพิ่มขึ้นในสมัยที่ท่านเจ้าคุณพระอุดมพิทยากร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
โดย สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอผักไห่